เมื่อพูดถึงการทำ Smart Farm หรือเกษตรอัจฉริยะ แน่นอนว่า เราต้องคิดถึงการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่สามารถเชื่อมต่อเข้าอุปกรณ์ต่างๆ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า IoT (Internet of Thing) ที่เกษตรยุคใหม่นำมาปรับใช้ในรูปแบบด้านการเกษตรได้อย่างแพร่หลาย และช่วยทำให้งานในฟาร์มกลายเป็นเรื่องง่าย จนสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว
มาดูกันดีกว่าว่า IoT (Internet of Thing) จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญต่อวงการเกษตรได้อย่างไร และเราจะนำเทคโนโลยีนี้ช่วยภาคการเกษตรในด้านใดบ้าง ตามไปดูเทคโนโลยีเหล่านี้พร้อมๆ กันเลย
IoT คืออะไร?
IoT (Internet of Thing) คือ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ ตู้เย็น โทรทัศน์ และอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งช่วยทำให้ควบคุมสิ่งของต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และถูกนำมาใช้ในหลายธุรกิจ เช่น การสร้าง Smart City นำมาปรับใช้ร่วมกับโครงสร้างพื้นฐาน และระบบต่าง ๆ ของเมือง หรือการทำมาใช้ใน Smart Industry เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมสมัยใหม่
IoT สำหรับธุรกิจเกษตรทำงานอย่างไร?
ในด้านธุรกิจเกษตรเองก็นำ IoT (Internet of Thing) มาใช้เพื่อควบคุม ดูแล และจัดการทรัพยากรในอุตสาหกรรมเกษตรกรรม เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของประชากรในด้านอาหารที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ให้สามารถลดของเสียและเพิ่มผลผลิต รวมถึงเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น
สำหรับประเทศไทยที่ใช้พื้นที่ภายในประเทศส่วนใหญ่ไปกับการทำเกษตรกรรม และมีรายได้หลักส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกผลผลิตในด้านนี้ แน่นอนว่า เทคโนโลยี IoT จะเข้ามามีบทบาทช่วยให้เกษตรกรรุ่นใหม่ให้ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้นจากการบริหาร-จัดการวิธีการผลิตได้ด้วยตัวเองจากฐานข้อมูลและเทคโนโลยีที่แสดงผลลัพธ์ให้รู้แบบเรียลไทม์ที่จะช่วยลดอัตราความเสียหายของผลผลิตที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการเพาะปลูกได้
ซึ่งการนำเทคโนโลยี IoT มาช่วยในการทำการเกษตรจะทำหน้าที่คิด วิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจในกระบวนการเพาะปลูกแทนมนุษย์ได้ดีเช่นนี้และกะเกณฑ์ผลผลิตตามเป้าหมายได้จริง ก็จะส่งผลให้ทั้งภาครัฐและเอกชน SMEs รวมไปถึง Start up ต่างๆ เข้ามาลงทุนผลิตในด้านการเกษตรมากขึ้นอีกด้วย
7 วิธีใช้ IoT สำหรับธุรกิจเกษตรที่เป็นที่นิยม
เทคโนโลยี IoT เข้ามามีบทบาทในหลายกิจกรรมทางการเกษตร ตั้งแต่การเตรียม การเพาะปลูก ไปจนถึงการเพาะปลูก ในหลายๆ ด้าน ซึ่งในบทความนี้จะยกตัวอย่างการประยุกต์ใช้ IoT สำหรับธุรกิจเกษตรที่เป็นที่นิยมมาทั้งหมด 7 อย่างด้วยกัน ได้แก่
- การติดตามสภาพดิน (Soil Monitoring) ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้เซนเซอร์ตรวจสอบคุณภาพและคุณสมบัติของดิน ความชื้น และแร่ธาตุ เพื่อนำมาปรับปรุงดินให้เหมาะสม และนำมาใช้วิเคราะห์ รวมถึงวางแผนการเพาะปลูก เพื่อการดูแลพืชได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังจะช่วยทำให้เกษตรกรทราบว่าควรปลูกพืชชนิดใดในสภาพดินที่มีอยู่
- การใช้อุปกรณ์ไร้คนขับในการจัดการแปลงเกษตร (Drone for farm management) การใช้โดรนเพื่อการเกษตรกรรม (Agricultural Drones) เป็นเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการทางการเกษตรต่างๆ ทั้งภาคพื้นดินและภาคอากาศ ทั้งการพ่นปุ๋ย, การให้น้ำ, การประเมินสุขภาพพืช, การวิเคราะห์ดินและพื้นที่เพาะปลูก เป็นต้น
โดยเกษตรกรสามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบแผนที่ในการกำหนดพิกัดแปลงพืช เพื่อให้โดรนเข้าทำงานได้แบบอัตโนมัติ ซึ่งช่วยประหยัดเวลา เพิ่มศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต และผลจากการเก็บรวบรวมข้อมูล รวมถึงการประมวลผลแบบเรียลไทม์ก็ยังช่วยวิเคราะห์โรคพืช ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวในเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งช่วยคำนวณการจัดคิวการเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเวลาดีที่สุดให้ได้ด้วย
- การเกษตรแบบแม่นยำสูง (Precision Farming) แนวคิดการทำเกษตรแม่นยำสูงจะช่วยส่งเสริมและควบคุมให้การปฏิบัติการทางการเกษตรมีความแม่นยำมากขึ้น โดยการประยุกต์ใช้ IoT และอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เซนเซอร์ ระบบควบคุม หุ่นยนต์ รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ฮาร์ดแวร์อัจฉริยะ เทคโนโลยีการให้ปุ๋ย/น้ำ/ยากำจัดแมลงศัตรูพืช และอื่นๆ อีกมากมายมาใช้ควบคุมและแก้ไขปัญหาทางการเกษตร เพื่อลดค่าใช้จ่าย เนื่องจากเกษตรกรสามารถคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้น ในอนาคตได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
- การควบคุมโรคและ ศัตรูพืช (Pest and Disease Control) เพิ่มประสิทธิภาพและควบคุมโรคศัตรูพืชด้วยระบบ IoT ที่ช่วยควบคุมระบบเซนเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิให้ระบุถึงการแพร่กระจายของศัตรูพืชได้ดีขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนการใช้สารกำจัดวัชพืชและควบคุมโรคและศัตรูพืชให้มีคุณภาพและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
- การติดตามและวิเคราะห์สภาพอากาศ (Climate Change Monitoring) การใช้ระบบงาน IoT ถูกใช้เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลเรดาห์ติดตามสภาพอากาศผ่านภาพถ่ายดาวเทียมหรือระบบเรดาร์ ซึ่งช่วยคาดการณ์สภาพอากาศในปัจจุบันและในอนาคตได้แบบล่วงหน้าเกี่ยวกับภัยพิบัติต่างๆ เช่น เส้นทางพายุ ปริมาณน้ำฝน ฯลฯ เพื่อลดต้นทุนจากความเสียหายของผลผลิตจากปัญหาภัยธรรมชาติและสภาพเเวดล้อมที่ควบคุมได้ยากนั่นเอง
- การติดตามและดูแลปศุสัตว์ (Livestock Monitoring) เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ยุคใหม่จะใช้ระบบงาน IoT แบบไร้สายเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ สภาพความเป็นอยู่ ตำแหน่งของฝูงปศุสัตว์ และสุขภาพของสัตว์ภายในฟาร์มได้ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน และช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคของปศุสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การควบคุมโรงเรือน (Smart Greenhouse) โรงเรือนอัจฉริยะ (Smart Greenhouses) เป็นวิธีในการช่วยเพิ่มผลผลิตที่ช่วยควบคุมตัวแปรด้านสิ่งแวดล้อมผ่านระบบ IoT จะช่วยลดการสูญเสียผลผลิต และการสูญเสียพลังงานไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยสภาพแวดล้อมด้วยโรงเรือนระบบอัจฉริยะจะสามารถควบคุมได้ทั้งระบบน้ำ ระบบระบายและปรับอากาศ ระบบแสงสว่าง และระบบตรวจจับอื่นๆ ซึ่งจะช่วยลดความจำเป็นในการตรวจสอบด้วยตนเองหรือต้องใช้แรงงานคนในการดูแลลงไปได้มากทีเดียว
สรุป
การประยุกต์ใช้ IoT ในยุคการทำเกษตร 4.0 จะช่วยให้เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์และเกษตรกรยุคใหม่ สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลสำคัญต่างๆ ของการปลูกพืชได้เป็นอย่างดี และจะช่วยให้เจ้าของฟาร์มใหญ่ๆ ให้สามารถจัดการ ควบคุม และดูแลการทำการเกษตรได้ง่าย ซึ่งนี่จะช่วยให้เกษตรยุคใหม่มีศักยภาพในการแข่งขันและเพิ่มความยั่งยืนในด้านการทำการเกษตรกรรมได้ นอกจากนี้ยังช่วยเข้ามาตอบโจทย์ด้านการลดต้นทุนแรงงานในการผลิต ประหยัดเวลา และทำให้การทำงานฟาร์มเกษตรมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นอีกด้วย