Thai TH English EN
ภาพปกบทความโรคพืช

เปิดเคล็ดลับ จะรู้ได้อย่างไรว่าพืชที่ปลูกอยู่เป็นโรค หรือแค่ขาดธาตุอาหาร?

เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า พืชหรือต้นไม้ที่ปลูกอยู่ดูไม่แข็งแรง และมีอาการที่ดูไม่สู้ดีนัก แต่ก็ยังแยกไม่ออกว่าเกิดจากสาเหตุใดระหว่างเป็นโรคพืช หรือว่าพืชกำลังขาดธาตุอาหารที่ควรจะได้รับกันแน่?

บทความนี้ เราจึงนำอาการและลักษณะ รวมถึงสาเหตุของการเกิดอาการผิดปกติในพืชทั้ง 2 รูปแบบนี้มาอธิบายเพิ่มเติมให้ได้รู้กันว่า พืชที่คุณปลูกอยู่นั้นแท้จริงแล้วกำลังป่วยด้วยสาเหตุใด และจะมีวิธีฟื้นคืนชีพต้นไม้หรือพืชที่ปลูกอยู่ให้กลับมาเจริญเติบโตได้อย่างไรบ้าง ลองมาดูเคล็ดลับที่เรานำมาฝากกันในบทความนี้กันเลยดีกว่า

โรคพืชคืออะไร?

นอกจากแมลงศัตรูพืชหรือวัชพืชแล้ว ก็จะมีอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้พืชที่ปลูกอยู่เกิดการสูญเสียทั้งในแง่ของการเจริญเติบโต, ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกัน-กำจัดเพิ่ม และมีผลผลิตที่ลดลง ไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือยาวก็ตาม ซึ่งนั่นมักจะเกิดจากสาเหตุของ ‘โรคพืช’ ที่ทำให้พืชมีอาการผิดปกติ โดยมีสาเหตุมาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ

1. โรคพืชที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต เช่น 

เชื้อรา: เป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคในพืชได้มากที่สุด โดยเชื้อราจะทำให้พืชเป็นโรค อาจมีการแสดงอาการเฉพาะแห่ง หรือทั่วทั้งต้นพืชขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อสาเหตุ และชนิดของพืช อาจจะเกิดกับพืชเฉพาะบางชนิด หรือหลายชนิดก็ได้ 

โรคพืชจากสิ่งมีชีวิต

เช่น เกิดอาการโคนเน่า เป็นอาการที่เกิดบริ  เวณส่วนล่างของพืช เนื่องจากเซลล์หรือเนื้อเยื่อแยกออกจากกัน, อาการรากเน่า เป็นการทำลายระบบรากของพืชทั้งหมด, อาการใบแห้งหรือไหม้ เป็นอาการที่เกิดบนใบ กิ่งก้านและช่อดอก ทำให้กลายเป็นสีน้ำตาลอย่างรวดเร็วและตายได้ เป็นต้น

แบคทีเรีย: สำหรับแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคพืช จะมีรูปร่างเป็นท่อนสั้นและ ไม่สร้างสปอร์ แต่จะมีชั้นเมือกหรือแคปซูลห่อหุ้มผนังด้านนอกเซลล์อีกชั้นหนึ่ง จึงช่วยให้มีอายุนาน และทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดีขึ้น ในบางชนิดสามารถสร้างสารเร่งการเติบโต ทำให้เซลล์พืชเจริญมากผิดปกติ เกิดอาการบวมพอง เป็นปุ่มปม หรือเข้าไปทำลายพืชได้ในทางแผล 

โรคพืชจากแบคทีเรีย

ยกตัวอย่างโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย เช่น โรคเน่าเละ อาการของโรคคือจะมีรอยช้ำจนกระทั่งเน่าไปทั่ว พืชจะเหี่ยวและตายในที่สุด ฯลฯ

โดยวิธีการรักษาโรคพืชนั้นจะขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละโรคอาจมีการรักษาที่จำเพาะ ควบคู่ไปกับการใช้สารชีวภัณฑ์ซึ่งเป็นสารที่ปลอดภัยสูง ไม่มีพิษตกค้าง ซึ่งจะช่วยรักษาและป้องกันพืชจากโรคต่างๆ ได้ เช่น การใช้ชีวภัณฑ์ที่มีเชื้อราไตรโคเดอร์มา ที่ช่วยกระตุ้นให้พืชสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อรา เช่น โรครากเน่า โคนเน่า โรคผลเน่า, การใช้บาซิลลัส เวเลเซนซิส (Bacillus Velezensis) ที่ช่วยควบคุมหรือยับยั้งการเกิดโรคพืชที่มีสาเหตุจากเชื้อราและแบคทีเรีย และช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชได้

2. โรคพืชที่เกิดจากสิ่งไม่มีชีวิต เช่น

ปุ๋ย: สำหรับพืชที่ได้รับสารอาหารน้อยหรือมากเกินไป หรือที่เราเรียกกันว่า พืชขาดปุ๋ย จนทำให้ใบอ่อน และใบแก่ โดยจะมีอาการเปลี่ยนสี ใบมีขนาดเล็กลง ม้วนขึ้น หรือหดลง ตลอดจนการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตผิดปกติ หรือพืชได้รับปุ๋ยมากเกินไปก็มักจะทำให้ต้นพืชเหี่ยวเฉาตาย หรือใบงามจนเกินไป และไม่ออกรวง

สภาพแวดล้อม: สภาพแวดล้อมเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พืชเกิดอาการผิดปกติ เช่น ดินมีความเป็นกรดเป็นด่างมากเกินไป ทำให้พืชมีขนาดเล็ก การเจริญเติบโตช้า, แสงแดดหรืออากาศที่ร้อนจัดเกินไป จนทำให้พืชบางชนิดไม่สามารถทนความร้อนจากแสงอาทิตย์ได้ เนื้อเยื่อบริเวณที่โดนแสงจึงถูกทำลายเป็นเซลล์ตาย จนเป็นสีน้ำตาลหรือสีดำ และอ่อนแอลง เป็นต้น

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้พืชเกิดการเปลี่ยนแปลง และเกิดความเสียหายให้เห็น ซึ่งจะเสียหายมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ ความอ่อนแอของพืชต่อการเกิดโรค ความรุนแรงของเชื้อโรค และสภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การเกิดโรค เช่น อุณหภูมิ ความชื้น สภาพความเป็นกรดและด่างของดินว่ามีมากน้อยแค่ไหน

โรคพืชจากสิ่งไม่มีชีวิต

อาการขาดธาตุอาหารในพืช

อาการของต้นไม้ขาดธาตุอาหาร คืออาการที่ต้นไม้ของคุณขาดธาตุอาหารในธาตุใดธาตุหนึ่งจาก 12 แร่ธาตุ ได้แก่ ไนโตรเจน (N), ฟอสฟอรัส (P), โพแทสเซียม (K), แมกนีเซียม (Mg), โมลิบดินัม (Mo), สังกะสี (Zn), ทองแดง (Cu), แมงกานีส (Mn), เหล็ก (Fe), กำมะถัน (S), แคลเซียม (Ca) และโบรอน (B) จนทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น มีใบเหลือง มีจุดสีน้ำตาลขึ้นตามใบ ฯลฯ ตามแต่ละธาตุที่ขาด ซึ่งเรามีตัวอย่างอาการ และตัวอย่างวิธีรักษามาฝากกันถึง 6 แร่ธาตุด้วยกัน เช่น 

1.) ต้นไม้ขาดไนโตรเจน (N) 

อาการ: ใบจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง โดยเริ่มจากปลายใบ ถ้าขาดไนโตรเจนรุนแรงใบแก่จะตาย เหลือเพียงใบอ่อน และจะโตช้าลง

วิธีดูแล: ให้ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนลงไป เช่น ปุ๋ยคอก หรืออาจเติมดินที่มีแร่ธาตุไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบ แต่ควรเติมให้พอดี ไม่อย่างนั้นพืชจะอวบน้ำ ต้นอ่อน และล้มง่ายและอย่าให้ดินขาดน้ำเด็ดขาด 

2.) ต้นไม้ขาดฟอสฟอรัส (P)

อาการ: ไม่ออกดอกออกผล ลำต้นไม่เจริญเติบโต ดูแคระแกร็น รากจะหยุดเจริญเติบโต และใบที่แก่แล้วจะมีสีม่วงแดงที่ใบ 

วิธีดูแล: ให้ใส่ปุ๋ยคอก หรือถ้ามีปุ๋ยฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้ให้ใช้วิธีโรยเป็นแถบให้ลึกลงไปในดินบริเวณราก เพื่อให้ปุ๋ยค่อยๆ ทำปฏิกิริยากับดินทีละน้อย

3.) ต้นไม้ขาดโพแทสเซียม (K)

อาการ: ใบปกติจะมีอาการขอบใบม้วนงอ และมีจุดสีน้ำตาลไหม้ขึ้นตามขอบใบ ส่วนในใบที่แก่แล้วจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซีด 

วิธีดูแล: เพิ่มปุ๋ยอินทรีย์ที่มีโพแทสเซียม การให้น้ำ หรือเพิ่มการสร้างสมดุลของ NPK (ไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส, โพแทสเซียม) ให้มากขึ้น

4.) ต้นไม้ขาดแมกนีเซียม (Mg)

อาการ: ต้นพืชที่ขาดธาตุอาหารนี้จะมีขนาดเล็กลงมาก ต้นเปราะหักง่าย และผลจะแก่ช้ากว่าปกติ ส่วนใบจะมีขอบใบจะมีจุดสีน้ำตาล ปลายใบจะแห้ง ใบเริ่มมีสีซีดลง แต่เส้นใบยังคงเขียวอยู่

วิธีดูแล: ให้ตรวจสอบที่ดินก่อน เพราะอาการนี้มักเกิดจากการที่ดินมีสภาวะเป็นกรด หลังจากนั้นให้ใช้ปุ๋ยคอกหรืออินทรียวัตถุอื่นๆ ใส่ในดินเพิ่ม เพื่อเพิ่มธาตุแมกนีเซียม

5.) ต้นไม้ขาดโมลิบดินัม (Mo)

อาการ: ต้นจะแคระแกร็น ติดดอกเล็ก ถ้าติดผล ผลก็จะร่วงอย่างรวดเร็ว ในใบอ่อนจะมีลักษณะเรียวยาว ใบจะดูผิดรูป ม้วนงอเข้าหากัน และมีขนาดเล็กกว่าปกติ 

วิธีดูแล: สาเหตุมักเกิดจากดินที่มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างหรือการใส่ปูนในดินเพื่อปลูกพืชหมุนเวียน จึงควรให้สารประกอบโซเดียมโมลิบเดท (sodium molybdate) หรือ แอมโมเนียมโมลิบเดท (ammonium molybdate) กับพืช ทั้งในรูปของปุ๋ยโดยใส่ลงในดินปลูก และผสมกับนํ้าฉีดพ่นให้กับต้นพืชโดยตรง หรืออาจจะใช้โดยวิธีราดรดลงในดินระหว่างแถวพืชที่ปลูกก็ได้

6.) ต้นไม้ขาดสังกะสี (Zn)

อาการ: ผลจะสีซีด เปลือกหนา และมีน้ำน้อย ลำต้นป้อม ไม่ค่อยออกดอก เจริญเติบโตช้า ส่วนใบจะมีจุดสีเหลือง ๆ ล้อมรอบจุดสีน้ำตาลคล้ายราสนิม

วิธีดูแล: สาเหตุที่เกิดอาการเเบบนี้เป็นเพราะเรื่องของสภาพอากาศที่เย็นและชื้นเกินไป หากเป็นต้นไม้ในบ้านให้เลี่ยงไปปลูกในที่ไม่โดนเครื่องปรับอากาศ และบำรุงด้วยปุ๋ยที่มีแร่ธาตุ Zn เป็นส่วนประกอบ

สรุป

เมื่อทราบลักษณะความแตกต่างระหว่างโรคพืชและพืชที่ขาดสารอาหารแล้ว ลองนำข้อมูลที่ได้เหล่านี้ไปตรวจสอบกับพืชที่คุณปลูกดูซิว่า พืชที่ปลูกอยู่เกิดลักษณะอาการผิดปกติจากอะไร แล้วลองหยิบวิธีการเหล่านี้ไปใช้รักษา และดูแลอย่างถูกต้องต่อไป เพื่อป้องกันไม่เกิดการสูญเสียต้นไม้ หรือผลผลิตที่ได้ไปแบบฟรีๆ นอกจากนี้อย่าลืมใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สารชีวภัณฑ์ต่างๆ ที่ช่วยให้การดูแลพืชของคุณเป็นเรื่องง่าย เติบโตได้อย่างแข็งแรง และออกดอกผลได้ดังใจหวัง

Add LINE friend
เพื่อปรึกษาโรคพืชฟรี!

เพิ่มเพื่อน

บทความยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง