อย่างที่เราทราบกันดีว่า ‘ราก’ เป็นส่วนประกอบสำคัญของพืชที่ทำหน้าที่ดูด (Absorption) น้ำและแร่ธาตุที่จากดินเข้าไปในลำต้น ลำเลียง (Conduction) น้ำและแร่ธาตุรวมทั้งอาหารซึ่งพืชสะสมไว้ในรากขึ้นสู่ส่วนต่างๆ ของลำต้น ยึด (Anchorage) ลำต้นให้ติดกับพื้นดิน เป็นแหล่งสร้างฮอร์โมน (Producing hormones) เช่น ไซโทไคนิน จิบเบอเรลลิน ซึ่งจะนำไปใช้ในการเจริญส่วนลำต้นและยอดของพืช
ถ้ายิ่งรากมีเยอะและแตกแขนงได้ดี ก็เหมือนกับพืชได้มือที่มาช่วยหยิบอาหารได้มากขึ้น ทำให้ดูดซึมอาหารมาเลี้ยงลำต้นได้มากขึ้น ช่วยทำให้พืชมีรากฐานที่มั่นคง แข็งแรง ทำให้ต้านแรงลม แรงฝนได้ดี แน่นอนว่า ช่วยทำให้พืชผักที่คุณปลูกเจริญเติบโต งอกงามมากกว่าพืชที่มีรากน้อย รากสั้น หรือแตกแขนงไม่ดีแน่ๆ แต่จะทำยังไงให้รากพืชมีเยอะ และแตกแขนงได้ดีแบบที่ไม่เป็นอันตราย ปลอดสารพิษแบบ 100% วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกัน
วิธีเร่งรากต้นไม้ด้วย ‘ไมคอร์ไรซา’ จุลินทรีย์ธรรมชาติ
เมื่อพูดถึงจุลินทรีย์ที่ทำให้พืชโตเร็ว เร่งรากต้นไม้ได้ดี จะต้องนึกถึง ‘ไมคอร์ไรซา’ เชื้อราอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซ่า (Arbuscular Mycorrhiza) ซึ่งเป็นเชื้อราชีวภาพที่พบได้ในดินทั่วไป สามารถเข้าสู่รากพืช และอาศัยร่วมกันกับพืชแบบพึ่งพาอาศัยกัน (symbiosis) ได้ โดยเชื้อราจะได้รับที่อยู่อาศัยและสารอาหารคาร์โบไฮเดรตจากพืช ในขณะที่พืชจะได้รับธาตุ และอาหารต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟอสฟอรัส น้ำ และยังทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันอันตรายจากเชื้อซึ่งเป็นสาเหตุของโรคพืชต่างๆ ได้ระดับหนึ่งด้วย
ชนิดของไมคอร์ไรซ่า
สามารถจำแนกไมคอร์ไรซาได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- ราเอคโตไมคอร์ไรซา (ectomycorrhiza) เป็นราที่มีเส้นใยของราเจริญและสานตัวกันเป็นแผ่นห่อหุ้มผิวของรากแขนง ทำหน้าที่เคลื่อนย้ายน้ำและธาตุอาหารจากดินสู่รากพืช ทำให้รากแตกรากแขนงมากขึ้น และทำให้รากใหญ่ขึ้น
- ราอาบัสคูลาไมคอร์ไรซา (arbuscular mycorrhiza) หรือเอนโดไมคอร์ไรซา (endomycorrhiza) เป็นราที่ช่วย แก้ปัญหาการดูดซับฟอสฟอรัสให้กับพืชได้ เนื่องจากเส้นใยราที่แพร่กระจายอยู่อย่างหนาแน่น ในดินจะทำหน้าที่เสมือนราก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับฟอสฟอรัสให้กับพืชได้อีกทางหนึ่ง

ประโยชน์ของไมคอร์ไรซา
ไมคอร์ไรซาเป็นเชื้อราที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของราก ดิน และลดโอกาสการเกิดโรคในพืช โดยไมคอร์ไรซาจะช่วยให้พืชดูดธาตุอาหารอย่างฟอสฟอรัสได้มากขึ้น เนื่องจากเส้นใยของเชื้อราเวสิเคิลอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซาจะช่วยทำหน้าที่ในการละลายธาตุอาหารในดินให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งพืชและเชื้อราเอง อีกทั้งพืชที่มีเชื้อราเวสิเคิลอาร์บัสคูลาร์ไมคอร์ไรซาอาศัยอยู่ที่รากจะมีความสามารถในการทนแล้งได้มากกว่าพืชปกติ สาเหตุเป็นเพราะเส้นใยของเชื้อราจะช่วยดูดน้ำให้แก่พืชได้ และช่วยเร่งรากต้นไม้ให้โตได้ดีขึ้น
นอกจากนี้สารอินทรีย์ที่เป็นส่วนผสมในปุ๋ยไมคอร์ไรซาช่วยยกระดับให้ดินมีอินทรียวัตถุสูงขึ้นได้ และช่วยลดความรุนแรงในการเป็นโรคของพืชอันเนื่องมาจากเชื้อสาเหตุที่อาศัยอยู่ในดิน เช่น โรครากเน่า โรคโคนเน่า เป็นต้น โดยนำปุ๋ยชีวภาพไปใช้งานกับกล้าไม้ จะช่วยทำให้กล้าไม้เจริญเติบโตได้ดี ไม่มีโรคจากเชื้อรามากวนใจได้อีกด้วย

ด้วยประโยชน์ของไมคอร์ไรซาจึงถูกนำมาใช้ในการทำปุ๋ยชีวภาพ เพื่อทดแทนการใช้สารเคมีเร่งราก หรือปุ๋ยเคมี ซึ่งเป็นสารที่มีโลหะหนักซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ของคน และสัตว์เลี้ยงทั่วไป ซึ่งสารพิษเหล่านี้ยังมีโอกาสปนเปื้อนลงสู่ดินได้ แถมการใช้ปุ๋ยเคมีติดต่อกันนานๆ ยังทำให้ผลผลิตมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ เพราะปุ๋ยเคมีจะทำให้ดินเสีย เช่น ทำให้ดินแข็งไถพรวนยาก พืชกินปุ๋ยได้น้อยลง จึงไม่เติบโตดีเท่าที่ควร การหันมาใช้ไมคอร์ไรซาจึงเป็นผลดีต่อดิน ผลผลิต และสุขภาพของคนใช้งานมากกว่า
กระบวนการทำงานของไมคอร์ไรซา
- การงอกของรา เมื่อสภาพแวดล้อมต่างๆ ในดินเหมาะสม ชิ้นส่วนของราแบบต่างๆ ได้แก่ สปอร์ เส้นใย รากที่ติดเชื้อจะเริ่มงอกเส้นใยเข้าหารากพืชที่อยู่ใกล้เคียง
- การสร้าง appressorium เมื่อเส้นใยของราเจริญจนถึงรากของพืชแล้ว ราจะสร้างโครงสร้างที่เรียกว่า appressorium เพื่อยึดเกาะกับรากของพืช
- การเจริญของเส้นใยเข้าสู่ราก เส้นใยจะเจริญ เข้าสู่ภายในรากพืช ผ่านเนื้อเยื่อพืชชั้นผิวนอกสุด และเจริญเข้าสู่ชั้นคอร์เท็กซ์ (cortex) ของพืชต่อไป
- การสร้างอาร์บัสคูล (arbuscule) ในชั้นคอร์เท็กซ์ของรากพืช เส้นใยของเชื้อราเจริญผ่านผนังเซลล์ของราก พืชและสร้างโครงสร้างพิเศษที่เรียกว่า อาร์บัสคูล ซึ่งทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนธาตุอาหารจากรากสู่พืช และรับคาร์โบไฮเดรตจากพืชเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต และเมื่อหยุดการใช้งานจะถูกย่อยสลายโดยเซลล์ของพืชต่อไป
วิธีใช้ปุ๋ยชีวภาพไมคอร์ไรซา

สำหรับใครที่สนใจจะใช้ปุ๋ยชีวภาพไมคอร์ไรซาเป็นวิธีเร่งรากต้นไม้มีวิธีการใช้งานง่ายๆ มาฝากดังนี้
- ในการเพาะต้นกล้า ใช้อาบัสคูลาไมคอร์ไรซา 2-3 กรัมหรือครึ่งช้อนชาต่อต้นกับดินที่เพาะชำกล้า
- กิ่งชำหรือส่วนขยายพันธุ์ที่งอกรากแล้ว ให้โรยปุ๋ยชีวภาพไมคอร์ไรซ่าให้สัมผัสรากฝอยของพืช หลังจากกิ่งชำงอกรากแล้วอย่างน้อย 1 เดือน จึงย้ายปลูกลงแปลงปลูก
- ยางพารา อายุมากกว่า 1 ปี ใส่ปุ๋ยชีวภาพไมโคไรซ่า 10 กรัม หรือ 1 ช้อนโต๊ะต่อพืช 1 ต้น แต่ถ้าให้ได้ผลดี ควรใส่ในระยะต้นกล้าหรือรองก้นหลุมก่อนปลูก