“โรครากปม” ถือเป็นโรคหนึ่งที่ทำให้ผลผลิตของพืชเศรษฐกิจชนิดต่างๆ เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นพริกไทย, ข่า, ขิง, พริก, มะเขือ, มะเขือเทศ, แตงต่าง ๆ, ผักชี, กระเจี๊ยบเขียว, ผักกาดหอม, ผักคะน้า, ผักกวางตุ้ง,ฯลฯ หรือแม้แต่ในผลไม้อย่างฝรั่ง, ลองกอง, ลางสาด, ลำไย, มะละกอ, ฯลฯ ก็โดนโรคระบาดนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

โรครากปมนี้มีตัวการหลักมาจากไส้เดือนฝอยที่หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่า ไส้เดือนฝอยนี้คือ ไส้เดือนดินตัวเล็กๆ แต่ความเป็นจริงแล้วไส้เดือนฝอยเป็นสัตว์ในกลุ่มของพยาธิตัวกลม และเป็นศัตรูพืชที่มีขนาดเล็กมาก มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า อาศัยอยู่ได้ทุกหนทุกแห่งทั่วโลก เช่น ในดิน ทะเล แม่น้ำ แม้กระทั่งน้ำพุร้อนหรือทะเลทราย ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีทั้งคุณและโทษต่อเกษตรกร เพราะส่วนหนึ่งเป็นศัตรูพืช และอีกส่วนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการกำจัดแมลงได้
(แต่ในที่นี้เราจะขอพูดถึงไส้เดือนฝอยรากปมศัตรูพืชเศรษฐกิจ เพื่อให้ข้อมูลแก่เกษตรกรถึงวิธีการป้องกันและกำจัดที่ได้ผล)
อาการของพืชที่เป็นโรครากปมจากไส้เดือนฝอย
ก่อนที่จะไปดูวิธีการกำจัดและป้องกันไส้เดือนฝอยรากปมมาศึกษาอาการที่เกิดขึ้นหลังจากถูกบุกเข้าทำลายกันก่อน โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

- อาการของพืชส่วนเหนือดิน
ต้นพืชจะมีลักษณะคล้ายกับขาดธาตุอาหาร เนื่องจากไส้เดือนฝอยรากปมจะเข้าไปขัดขวางการดูดซึมและลำเลียงธาตุอาหาร ทำให้พืชโทรม แคระ เหี่ยว ใบเหลือง ใบมีขนาดเล็ก พุ่มบาง ให้ผลผลิตลดลงทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณด้วย
- อาการของพืชส่วนใต้ดิน
จะทำให้ราก เหง้า หัว เป็นปุ่มปม โดยจะมีขนาดปุ่มปมที่ใหญ่เล็กไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับชนิดของพืช เช่น ในพริก ฝรั่งจะเกิดปมค่อนข้างใหญ่ ส่วนในข้าวโพดอ้อยจะเกิดปุ่มเล็ก
ความแตกต่างระหว่างปมจากไรโซเบียมและปมจากไส้เดือนฝอย
สำหรับความแตกต่างของปมที่เกิดจากไรโซเบียมและปมที่เกิดจากไส้เดือนฝอยซึ่งเป็นสาเหตุของโรครากปมนั้นมีความแตกต่างกัน ดังนี้
ปมที่เกิดจากไรโซเบียม
จะเป็นปมที่เกิดขึ้นที่รากพืชตระกูลถั่ว โดย ไรเบียมที่จัดอยู่ในกลุ่มของแบคทีเรียจะทำหน้าที่ตรึงธาตุไนโตรเจนจากอากาศมาไว้ในรากถั่วได้ โดยปมนี้สามารถหาปุ๋ยไนโตรเจนที่เรารู้จักกันดีอย่างปุ๋ยยูเรียมาให้พืชแบบเกื้อกูลถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ส่วนหน้าตาของปมนั้น จะมีลักษณะเป็นปมเล็กๆ ขึ้นกระจายอยู่ตามรากของพืชตระกูลถั่ว มองดูเหมือนติดอยู่ข้างๆ ผิวราก เมื่อผ่าดูปมมักจะเป็นสีแดงหรือสีชมพู

ส่วนปมรากที่พืชเป็นโรครากปม ซึ่งเกิดจากไส้เดือนฝอยที่มักจะสร้างปมขนาดใหญ่มองดูเหมือนรากพองบวมผิวรากขรุขระ ไม่เป็นระเบียบ กุดสั้น และเกิดได้ทั้งในพืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ พืชไร่ และไม้ผล

5 วิธีป้องกันและกำจัดไส้เดือนฝอยรากปมแบบไม่ใช้สารเคมี
หลังจากรู้แล้วว่า โรคนี้มีลักษณะอาการอย่างไร คราวนี้มาดูวิธีป้องกันและกำจัดต้นตอของการเกิดโรคกันดีกว่า ด้วย 5 วิธีการป้องกันและกำจัดไส้เดือนฝอยรากปมแบบปราศจากสารเคมี ด้วยวิธีง่ายๆ ดังนี้
- การเฝ้าสังเกตก่อนจะถูกบุกเข้าทำลาย
วิธีการป้องกันและกำจัดที่ง่ายที่สุดคือการเฝ้าสังเกตก่อนที่จะถูกเข้าทำลาย โดยไส้เดือนฝอยรากปมมักแพร่กระจายไปได้โดยติดไปกับดินที่นำมาเพาะชำ หรือ ดินที่ติดไปตามเครื่องมือการเกษตร เช่น ไถ จอบ เป็นต้น รวมถึงระบาดมาผ่านทางน้ำที่ใช้ด้วยได้ ดังนั้น เกษตรกรควรเตรียมตัวรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนี้
- การไถพรวน เมื่อดินที่มีการระบายน้ำดีทำให้ไส้เดือนฝอยถูกพาไปกับน้ำ จะช่วยลดปริมาณไส้เดือนฝอย ให้ไม่มารวมกันได้
- ปล่อยน้ำให้ท่วมแปลง กรณีเป็นที่ลุ่มการปล่อยให้น้ำขังนานๆ ก็จะช่วยให้ปริมาณไส้เดือนฝอยน้อยลง
- กำจัดวัชพืช โดยเฉพาะพวกพืชใบกว้าง เช่น ผักเบี้ยหิน ผักยาง สาบเสือ ผักโขม ผักปราบ ฯลฯ
- การเก็บรากและหัวที่มีไส้เดือนฝอยฝังตัวอยู่ออกนอกแปลงไปเผาทิ้ง
- การปลูกพืชหมุนเวียน
ควรทำการปลูกพืชหมุนเวียนที่ไม่ใช่อาหารที่ไม่ใช่อาหารของไส้เดือนฝอยรากปม เพื่อลดประชากรของเชื้อในดินและตัดวงจรชีวิตของไส้เดือนฝอย โดยพืชที่สามารถนำมาปลูกสลับแล้วได้ผล คือ ปอเทือง ถั่วลิสง และดาวเรือง
- ใช้ความร้อนจากแสงแดด
แนะนำให้ใช้ความร้อนจากแสงแดด โดยใช้พลาสติกคลุมดินที่มีความชื้นพอประมาณเอาไว้ เพราะนอกจากช่วยฆ่าไส้เดือนฝอย และเชื้อสาเหตุโรคพืชอื่นๆ แล้ว การใช้ความร้อนจากแสงแดดยังมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีและชีววิทยาของดิน ส่งผลให้เกิดการเพิ่มของไนโตรเจน และธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชได้อีกทางหนึ่ง
- การใช้พันธุ์พืชต้านทาน
สำหรับพืชบางชนิดจะมีสายพันธุ์พืชที่ต้านทานต่อโรครากปมได้ อย่างเช่น มันสำปะหลังจะมีสายพันธุ์ต้านทาน ได้แก่ ระยอง 7, ระยอง 13, ระยอง 60, ระยอง 72 และเกษตรศาสตร์ 50 ซึ่งจะสามารถปลูกได้ในกรณีพื้นที่ปลูกเคยมีการระบาดของไส้เดือนฝอยมาก่อน เป็นเนื้อดินชนิดร่วนปนทราย และมีการให้น้ำแบบระบบน้ำหยด
- การใช้ชีวภัณฑ์กำจัดไส้เดือนฝอยรากปม
การใช้ชีวภัณฑ์กำจัดไส้เดือนฝอยรากปมแทนการใช้สารเคมี ถือเป็นเป็นปัจจัยทางเลือกหนึ่งที่สามารถลดหรือทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชแบบเฉพาะเจาะจง ไม่ได้กำจัดแมลงที่มีประโยชน์ไปด้วย
อีกทั้งการใช้สารเคมีนั้นสามารถควบคุมศัตรูพืชได้เพียงแค่ระยะเวลาหนึ่ง โดยสามารถป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยได้แค่รากเดิมและต้นเท่านั้น แต่ไส้เดือนฝอยในบริเวณดินโดยรอบจะไม่ถูกทำลายไปด้วย ดังนั้น เมื่อสารเคมีหมดฤทธิ์ ก็จะมีการเข้าทำลายซ้ำ และระบาดต่อเนื่องไปอีก และหากใช้สารเคมีบางชนิดเข้มข้นเกินไป ยังทำลายและยับยั้งการแตกรากใหม่ของพืชทำให้รากเน่าหรือเฉาอีกด้วย