Thai TH English EN
ภาพปกบทความรายได้สมุนไพรไทย

ปลูกพืชสมุนไพรไทย สร้างรายได้ในครอบครัว

เทรนด์ดูแลสุขภาพ ดูเหมือนจะเป็นกระแสมาแรงสำหรับคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในด้านการบำรุงสุขภาพ การรับประทานอาหารปลอดภัยไร้สารเคมี หรือแม้แต่การใช้สินค้าต่างๆ ก็อิงกับความเป็น ‘ออร์แกนิก’ มากยิ่งขึ้น

หลายคนจึงหันมานิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพตั้งแต่หัวจรดเท้า ส่งผลให้ตลาดสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะหันมาปลูกพืชสมุนไพรไทยเหล่านี้ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัว

ปลูกพืชสมุนไพรไทยดีอย่างไรกับเกษตรกร

การปลูกพืชสมุนไพรไทยดูเหมือนจะเป็นอาชีพทางเกษตรกรรมที่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอยู่เสมอทั้งการให้ความรู้ สนับสนุนให้เพาะปลูกเพิ่มเติม และการกระตุ้นให้เกิดการส่งออกไปยังต่างประเทศตกปีละหลายร้อยล้านบาท ซึ่งในอนาคตอาจมีการผลิตพืชเหล่านี้ในระดับอุตสาหกรรมเพื่อให้เพียงพอต่อการป้อนงานเครื่องจักรในโรงงาน เหมือนในกรณีของการปลูกสับปะรด ข้าวโพดฝักอ่อน เพื่ออุตสาหกรรมกระป๋องหรือโรงดอง ซึ่งมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ปลูกพืชสมุนไพรไทย

นอกจากนี้พืชสมุนไพรไทยยังเป็นพืชที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ใช้แรงงานในการดูแลน้อย มีอัตราการเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศและจากสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าพืชเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ จึงเหมาะที่จะปลูกแซมหรือปลูกทดแทนพืชหลักในช่วงที่ไม่สามารถปลูกได้ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไม่ขาดช่วงในการหารายได้ไป แม้ในยามหน้าแล้งหรือหน้าฝนที่มีโอกาสทำให้พืชในไร่เสียหายเป็นจำนวนมาก

พืชสมุนไพรไทย 18 ชนิดน่าปลูก

พืชสมุนไพรที่น่าปลูกนั้นส่วนใหญ่เป็นพืชที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในวงการสปาและผลิตภัณฑ์ กลุ่มเสริมอาหาร และกลุ่มยาแผนโบราณตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย โดยพืชที่รับความนิยมและได้รับการส่งเสริมมีทั้งหมด 18 ชนิด คือ กระชาย กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก ขิง ข่า อบเชย ว่านหางจระเข้ ว่านชักมดลูก ว่านนางคำ ฟ้าทลายโจร ฟักข้าว เจียวกู่หลาน เพกา เพชรสังฆาต มะดัน หญ้าปักกิ่ง และหญ้าหวาน

พืชสมุนไพรไทย

นอกจากนี้ยังมีพืชส่งออกที่ยังไม่ได้เพาะปลูกเพื่อการค้าอย่างจริงจังเช่น ระย่อม ดองดึงส์ แพงพวยฝรั่งและกระวาน ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรไทยที่พบมากในป่าและเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากขึ้นทุกปี

ทำอย่างไรให้พืชสมุนไพรไทยที่ปลูกมีคุณภาพ

โดยปกติแล้วเกษตรกรน่าจะคุ้นเคยกับการปลูกพืชสมุนไพรไทยกันเป็นอย่างดี เพราะเป็นพื้นพื้นบ้านที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่การปลูกเพื่อบริโภคเองกับการปลูกเพื่อหวังสร้างรายได้จากผลผลิตที่มีคุณภาพนั้นแตกต่างกัน โดยเน้นการคำนึงปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1. พันธุ์ที่นำมาปลูก พืชสมุนไพรไทยที่ปลูกกันอยู่ทั่วไปนั้นมักเป็นพืชธรรมชาติที่ไม่ได้รับการคัดเลือกพันธุ์อย่างจริงจัง จึงทำให้เกิดการผันแปรทางพันธุกรรมมาก ดังนั้น จึงควรเลือกพันธุ์พืชสมุนไพรที่เหมาะสมในการนำมาปลูกด้วย เช่น หากจะเลือกปลูกขิงที่ใช้ในกลุ่มการทำยา ก็ควรเป็นขิงเผ็ด ในขณะที่ต้องการปลูกเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มอาหารก็ควรเลือกปลูกเป็นขิงหยวก เป็นต้น

2. ระยะพัฒนาการและการเติบโตของต้นพืช พืชสมุนไพรไทยเป็นพืชฤดูเดียวที่มักจะเพาะ โต ออกดอก และตายภายในหนึ่งฤดูหรือหนึ่งปี เมื่อเจริญเติบโตไประยะหนึ่งสมุนไพรมักจะเริ่มสะสมสารออกฤทธิ์ (สารสกัดหรือตัวยา) โดยจะสะสมสูงสุดเมื่อตอนออกดอก หลังจากนั้นจะสะสมสารไว้ที่ผลและเมล็ด ในขณะที่สารบริเวณใบจะลดลง

หากเกษตรกรต้องการให้สมุนไพรมีคุณภาพและเหมาะจะนำไปใช้งานจริงๆ ก็ควรจะต้องรู้ว่าจะเก็บเกี่ยวช่วงไหนจึงจะพอเหมาะกับช่วงเวลาการสะสมสารออกฤทธิ์ในพืชแต่ละชนิดด้วย เช่น หากเลือกปลูกพืชจำพวกว่าน ขิง ก็ต้องทราบว่า พืชเหล่านี้จะสะสมสารออกฤทธิ์ในลำต้นใต้ดิน หรือรากมากที่สุดเมื่อต้นยุบตัว ดังนั้น จึงควรเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่ต้นยุบตัวและแตกกอใหม่จึงจะดีที่สุด เป็นต้น

3. สภาพสิ่งแวดล้อมและการดูแลรักษา สภาพแวดล้อมมีผลต่อการเจริญเติบโตและคุณภาพของพืชเป็นอย่างมาก เช่น พืชสมุนไพรที่ได้รับปุ๋ยหรือน้ำมากเกินไปมักจะมีอัตราการเติบโตที่เร็ว แต่จะมีเนื้อสารสมุนไพรที่ออกฤทธิ์ได้น้อย เมื่อเก็บเกี่ยวมา มักจะอยู่ไม่นาน ถูกโรคและแมลงทำลายได้ง่าย และยังฝ่อง่ายอีกด้วย จึงควรเก็บเกี่ยวและดูแลให้พืชอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

นอกจากนี้ยังควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้วยการใช้สารชีวภัณฑ์ในการกำจัดศัตรูพืชอย่างแมลงและโรคแทนการใช้สารเคมี เพื่อทำให้สมุนไพรอยู่ในพื้นที่ปราศจากสารปนเปื้อนและปลอดภัยต่อการนำไปทำยา ทำอาหารหรือทำเวชภัณฑ์ต่างๆ ต่อไป

4. การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว รูปแบบการเก็บสมุนไพรนั้นส่งผลต่อสารในสมุนไพรเช่นเดียวกัน หากเก็บไว้ผิดวิธีก็จะทำให้สารภายในสมุนไพรเสื่อมสภาพลงได้ เช่น หากเก็บพืชสมุนไพรไว้ในอุณหภูมิที่สูงก็จะทำให้กลิ่นหอมลดลง หรือหากเก็บไว้ในพื้นที่ชื้นก็มีโอกาสเกิดเชื้อราได้  ดังนั้น จึงควรศึกษาวิธีการจัดเก็บหลังการเก็บเกี่ยวให้ดี เพื่อให้ได้สมุนไพรไทยที่มีคุณภาพพร้อมส่งออกไปยังนานาประเทศได้แบบไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง

ปลูกพืชสมุนไพรไทยให้มีคุณภาพ

สรุป

การเพาะปลูกพืชสมุนไพรไทย เป็นอีกหนึ่งวิธีการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่น่าสนใจ โดยอาจจะหันมาปลูกกันอย่างจริงจังหรือจะปลูกเป็นพืชทดแทนในช่วงที่ผลผลิตหลักกำลังเจริญเติบโตหรือไม่สามารถปลูกได้เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อผลผลิตชนิดนั้นๆ 

ซึ่งพืชสมุนไพรเหล่านี้มีอายุในการเพาะปลูกที่สั้น โตเร็ว มีต้นทุนในการลงทุนที่ต่ำ แถมยังปลูกได้ในทุกฤดูกาลก็ย่อมช่วยให้ช่วงระยะเวลาหลายเดือนที่ผลผลิตหลักยังไม่สามารถสร้างกำไรให้ได้ เกิดการนำที่ดินหรือเวลาว่างมาสร้างรายได้ให้เกิดประโยชน์จากพืชทดแทนเหล่านี้ได้อีกทางหนึ่งด้วย

Add LINE friend
เพื่อปรึกษาโรคพืชฟรี!

เพิ่มเพื่อน

บทความยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง