‘กล้วยไม้’ อีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้จากการส่งออกให้เกษตรกรไทยปีละหลายพันล้านบาท และด้วยมูลค่าการส่งออกที่สูงขนาดนี้ ทำให้เกษตรกรยิ่งต้องหาทางดูแลและป้องกันให้กล้วยไม้ดูสวย ออกดอกเต็มที่ และปราศจากร่องรอยการถูกทำลายทั้งจากโรคและศัตรูพืช โดยเฉพาะปัญหาของหอยทาก ที่มักสร้างความเสียหายให้กับกล้วยไม้และยังสร้างปัญหาถูกการตีกลับอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากพบหอยติดไปกับกล้วยไม้ส่งออกมากขึ้นในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
ทางเลือกจัดการ ‘หอยทาก’ ศัตรูกล้วยไม้ด้วย ‘ไส้เดือนฝอย’
โดยปกติแล้วเกษตรกรมักจะใช้สารเคมีในการกำจัดหอยทาก ศัตรูตัวฉกาจที่คอยดูดกินน้ำเลี้ยงต้นกล้วยไม้ ใบอ่อน ยอดอ่อน และราก รวมถึงเป็นพาหะในการนำจุลชีพก่อโรคเข้าสู่กล้วยไม้ เช่น เชื้อแบคทีเรียและเชื้อราหลากหลายชนิด แต่การใช้สารเคมีมักทำให้มีสารตกค้าง ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งานและส่งผลกระทบต่อการส่งออกได้
ดังนั้น การเลือกใช้วิธีกำจัดแบบเกษตรอินทรีย์ตามวิถีธรรมชาติอย่างการใช้ ‘ไส้เดือนฝอย’ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก มองเห็นได้ยากด้วยตาเปล่า แต่สามารถใช้เพื่อควบคุมแมลงและศัตรูพืชได้มากมายหลายชนิด จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าทั้งในแง่ประสิทธิภาพในการป้องกันและกำจัด รวมถึงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย
ไส้เดือนฝอยคืออะไร
ไส้เดือนฝอย เป็นศัตรูของแมลงที่มีรูปร่างเรียวยาวคล้ายกับเส้นด้าย ส่วนหัวของไส้เดือนฝอยจะมีลักษณะกลมมน ไม่มีข้อปล้อง ส่วนหางมีลักษณะแคบ ปลายเรียว ลำตัวจะยาวเพียง 0.4-1 มิลลิเมตร เนื่องจากเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก มองแทบไม่เห็นด้วยตาเปล่า จึงสามารถเข้าไปเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ในตัวแมลงได้ ทำให้ไส้เดือนฝอยถูกจัดอยู่ในกลุ่มของพยาธิ หรือปรสิตถาวรของเหล่าแมลงนั่นเอง
วงจรชีวิตของไส้เดือนฝอย
ไส้เดือนฝอยจะมีวงจรชีวิตหลังจากระยะไข่ โดยพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนอยู่ทั้งหมด 4 ระยะ โดยมีหนึ่งระยะหรือมากกว่าหนึ่งระยะจะอาศัยอยู่ภายนอกเหยื่ออาศัย เรียกว่า ระยะมีชีวิตอิสระ (free-living stage) ซึ่งระยะนี้ไส้เดือนฝอยจะมองหาเหยื่ออาศัย เรียกว่า ระยะเข้าทำลาย (infective stage) โดยระยะนี้จะมีความพิเศษอยู่ที่ ไส้เดือนฝอยไม่จำเป็นต้องกินอาหาร และมีผนังลำตัวที่หนากว่าระยะตัวอ่อนอื่นๆ จึงทำให้ทนต่อสภาพแวดล้อมได้นาน เพื่อรอเข้าทำลายแมลงศัตรูพืชเป้าหมายที่ต้องการ
จุดเด่นของไส้เดือนฝอย
ไส้เดือนฝอยมีประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ใช้งานในหลายๆ ด้าน เช่น
- สามารถนำมาใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้มากมายหลายชนิด เช่น หนอน หอยทาก ด้วง เป็นต้น
- ไม่เป็นอันตรายต่อคน สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม
- ไม่ก็ให้เกิดสารพิษตกค้างเหมือนกับสารเคมีที่ก่อมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
- ไม่มีกลิ่นของสารอันตราย จึงไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าปิดจมูกในขณะใช้งาน
- แมลงศัตรูพืชไม่สามารถสร้างความต้านทานต่อไส้เดือนฝอยได้ จึงไม่เกิดการต้านยา
- ไส้เดือนฝอยมีความทนทานต่อสารเคมีหลายชนิด จึงสามารถใช้เครื่องพ่นยาเครื่องเดียวกับเครื่องพ่นสารเคมีที่เคยใช้อยู่ก่อนได้
- ทำให้แมลงศัตรูพืชตายได้ในระยะเวลารวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง
- สามารถเลี้ยงให้เติบโตและเพิ่มปริมาณมากขึ้นได้ด้วยอาหารเทียม
ไส้เดือนฝอยช่วยทำลายหอยทากได้อย่างไร
การทำงานของไส้เดือนฝอยกำจัดหอยทากได้โดยการเข้าสู่ตัวแมลงผ่านทางช่องเปิดตามธรรมชาติ ได้แก่ ทางปาก ช่องขับถ่าย หรือรูหายใจทางผิวหนังของหอยทาก จากนั้น ไส้เดือนฝอยจะปล่อยแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือดของหอยทาก สร้างสารพิษที่มีผลทำให้หอยทากเกิดภาวะเลือดเป็นพิษและตายภายในเวลา 12 ชั่วโมง ส่วนไส้เดือนฝอยจะยังคงเจริญเติบโตและขยายพันธุ์อยู่ในซากของหอยทากจนกว่าสารอาหารในซากจะหมดไป หลังจากนั้นไส้เดือนฝอยก็จะออกจากซากเพื่อหาแหล่งอาหารต่อไป
วิธีการเพาะเลี้ยงไส้เดือนฝอยด้วยตัวเอง
หากต้องการเพาะไส้เดือนฝอยไว้ใช้งาน เกษตรกรสามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
1. ไส้เดือนฝอยที่นำมาใช้จะต้องเป็นไส้เดือนฝอยที่มีชีวิต มีความแข็งแรง และมีอัตราจำนวนที่มากพอในการกำจัดแมลงแต่ละชนิด เช่น หากต้องการกำจัดหนอนผีเสื้อ เกษตรกรจะต้องใช้ไส้เดือนฝอยอัตรา 50 ล้านตัวต่อน้ำ 20 ลิตร
2. เกษตรกรสามารถทำอาหารเทียมได้จากของต่างๆ รอบตัวดังนี้
- ไข่ไก่ 4-5 ฟอง นำมาผสมน้ำมันหมู 130 ซีซี และน้ำ 260 ซีซี
- หลังจากนั้นให้นำมาคลุกกับก้อนฟองน้ำตัดรูปทรงสี่เหลี่ยม 40 กรัม
- นำไปใส่ในภาชนะกล่องพลาสติกพร้อมฝาปิดหรือถุงทนร้อน แบ่งเท่าๆ กัน จำนวน 20 กล่อง หรือถุง
- นำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งไอน้ำเดือด เป็นเวลา 1 ชั่วโมง
3. ใส่หัวเชื้อไส้เดือนฝอย 50,000 ตัว/ภาชนะ ลงไปในอาหารเทียมหลังจากเย็นแล้ว หลังจากนั้นให้เพาะต่อเป็นเวลาเพียง 7 วัน หัวเชื้อไส้เดือนฝอยจะเพิ่มจำนวนเป็น15 ล้านตัว/ภาชนะเลยทีเดียว
การใช้ไส้เดือนฝอยให้มีประสิทธิภาพ
1. ควรพ่นไส้เดือนฝอยหลังจากการรดน้ำแปลงพืช เพื่อให้รอบๆ แปลงมีความชุ่มชื้น
2. ควรพ่นในช่วงเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดดแรงที่ทำให้ไส้เดือนฝอยเสื่อมคุณภาพ
3. ควรเขย่าหรือคนเป็นระยะ เพื่อให้ไส้เดือนฝอยกระจายตัวในน้ำอย่างทั่วถึง
4. ควรใช้ให้หมดในรอบที่เตรียมไว้
สรุป
สรุปแล้วไส้เดือนฝอยนั้นมีคุณประโยชน์มากมายทั้งช่วยป้องกันและควบคุมการระบาดของหอยทากซึ่งเป็นศัตรูพืชของสวนกล้วยไม้ได้อย่างอยู่หมัดแบบไม่ต้องพึ่งสารเคมี ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นวิธีช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากใช้ต้นทุนค่าวัสดุเพาะเลี้ยงที่ถูกในราคาหลักร้อย เมื่อเทียบกับการใช้ยาฆ่าแมลงที่อาจจะต้องลงทุนซื้อในราคาหลักพันเลยทีเดียว