‘โรคใบด่าง’ ถือเป็นโรคร้ายแรงที่สำคัญของพืชเศรษฐกิจหลากหลายชนิด หากเกิดขึ้นแล้วหมายถึงการสูญเสียทั้งพืชผล แรงงาน และรายได้ของเกษตรกร รวมถึงในทางเศรษฐกิจของประเทศเองก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ดังนั้น เกษตรกรไทยที่กำลังเตรียมพร้อมรับมือกับโรคนี้อยู่ หรือกำลังเผชิญหน้ากับโรคนี้ในพืช แนะนำให้อ่านบทความนี้ เพราะจะช่วยให้เกษตรกรเข้าใจ และป้องกันโรคใบด่างในพืชไร่ พืชสวนของตนเองได้อย่างทันท่วงที
โรคใบด่างคืออะไร เกิดขึ้นจากอะไร?
โรคใบด่างเป็นโรคจากเชื้อไวรัส พบว่าระบาดในพืชเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น
- มันสำปะหลัง โดยโรคใบด่างมันสำปะหลัง เกิดจากเชื้อไวรัส ในวงศ์ Geminiridae สกุล Begomovirus ปัจจุบันมีรายงานทั้งหมด 10 ชนิด โดยพบในทวีปแอฟริกา 8 ชนิด และในทวีปเอเชีย 2 ชนิด
- พืชตระกูลแตง โดยโรคใบด่างในพืชตระกูลแตง เกิดจากเชื้อ Cucumber mosaic virus หรือ CMV ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคใบหงิกในพริกด้วยเช่นเดียวกัน
- พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วฝักยาว โดยเกิดจากไวรัสใบด่างเหลืองถั่ว Bean Yellow Mosaic Virus-BYMV และไวรัสใบด่างถั่ว Bean Common Mosiac Virus-BCMV
ซึ่งการที่พืชจะติดโรคเหล่านี้ได้มีแมลงศัตรูพืชเป็นพาหะ ไม่ว่าจะเป็น…
- แมลงหวี่ขาวยาสูบ เป็นพาหะนำโรคในพืชหลายชนิด เช่น มันสำปะหลัง, พืชวงศ์ Solanaceae เช่น มะเขือ พริก ยาสูบ กะเพรา โหระพา ผักชีฝรั่ง สะระแหน่ แมงลัก ยี่หร่า
- เพลี้ยอ่อน ซึ่งเป็นพาหะนำโรคในพืชตระกูลแตง โดยเชื้อจะถ่ายทอดได้ง่ายโดยการสัมผัส และอยู่ข้ามฤดู รวมถึงสามารถทำลายพืชชนิดอื่นๆ ได้ด้วย
- แมลงหวี่ขาว ซึ่งเป็นแมลงพาหะนำโรคในถั่วเขียว
นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นได้จากปัจจัยสภาพแวดล้อม เช่น การนำท่อนพันธุ์มาจากนอกพื้นที่เข้ามาปลูก, จากเครื่องมือการเกษตร หรือเป็นช่วงฤดูที่มีการระบาดของแมลงหวี่ขาวยาสูบ เป็นต้น
วิธีสังเกตอาการของโรคใบด่าง
ลักษณะอาการโดยรวมของพืชที่เป็นโรคใบด่าง มีดังต่อไปนี้
ต้นเป็นโรคที่เกิดจากการใช้ท่อนพันธุ์ที่เป็นโรคใบด่าง
- อาการของโรคใบด่างในมันสำปะหลัง
ในยอดที่แตกใหม่จะมีอาการด่างเหลือง โดยใบจะมีลักษณะด่าง เหลือง หงิกงอ เสียรูปทรง ส่วนลำต้นจะไม่เจริญเติบโต แคระแกร็น ส่วนผลผลิตของมันสำปะหลังจะไม่สร้างหัวหรือมีหัวลีบเล็ก - อาการของโรคใบด่างในพืชตระกูลแตง
ลักษณะอาการจะปรากฏที่ใบเลี้ยงคู่แรกหรือใบจริงคู่แรก โดยจะมีอาการใบมีสีเหลืองสลับกับสีเขียวอ่อนหรือขาวซีด ทำให้ต้นกล้าที่เกิดขึ้นมาแคระแกร็น หยุดเจริญเติบโต และแห้งตายไป ส่วนในผลแตงจะเกิดอาการลายด่างเหลืองหรือซีดขาว ผลแตงเป็นปุ่มนูนไปทั่ว อาจซีดขาวคล้ายแตงดอง - อาการของโรคใบด่างในพืชตระกูลถั่ว
ใบถั่วเกิดอาการ ด่างลายเขียวหรือสีเหลือง เขียวเข้มสลับเขียวอ่อน หรือเขียวสลับเหลืองขึ้นที่เนื้อใบอย่างสม่ำเสมอตลอดทั่วทั้งใบ รากมีแผลสีน้ำตาล เมล็ดด่างผิดปกติ หรือถ้าเป็นมากใบเสียลักษณะ สีของเส้นใบอาจเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ใบหงิกลดรูป ใบม้วน ขอบใบม้วน ต้นอาจจะเหี่ยว ใบเหลืองทั้งใบแล้วหลุดออกจากต้น ในที่สุดอาจถึงตายได้
ต้นเป็นโรคที่เกิดจากแมลง
โดยเฉพาะแมลงหวี่ยาสูบ ซึ่งจะนำโรคจากต้นอื่นมาติดจากการที่แมลงหวี่ขาวยาสูบมาดูดกินใบพืชที่เป็นโรคก่อน หลังจากนั้นจะแพร่กระจายเชื้อออกไปยังต้นอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการระบาดในวงกว้างโดยใช้ระยะเวลาไม่นาน
วิธีการกำจัดโรคใบด่าง
สำหรับวิธีการรักษาและป้องกันพืชจากการเกิดโรคใบด่าง สามารถทำได้โดยวิธีต่างๆ ดังนี้ 1. ควรใช้ท่อนพันธุ์พืชภายในประเทศ ไม่นำท่อนพันธุ์พืชจากต่างประเทศเข้ามาปลูก เพราะอาจเสี่ยงต่อการนำเอาท่อนพันธุ์ที่ติดเชื้อไวรัสเข้ามาปลูก 2. สำรวจพื้นที่ในแปลงที่มีความเสี่ยงสูง หรือในแปลงที่ไม่ได้มีความเสี่ยงก็ต้องหมั่นเดินตรวจตั้งแต่เริ่มปลูกทุกๆ 2 สัปดาห์ หากพบต้นพืชที่แสดงอาการใบด่าง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอหรือจังหวัดใกล้บ้านทันที 3. ขุดถอนทำลายต้นต้องสงสัยออกจากแปลงนำไปฝังกลบพืชที่ติดโรค
วิธีการป้องกันโรคใบด่างด้วยสารชีวภัณฑ์
ไม่ว่าจะก่อนติดโรคใบด่าง หรือติดโรคไปแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งไม่ควรใช้สารเคมี เนื่องจากอันตรายและเสี่ยงต่อการที่แมลงจะดื้อยา โดยแนะนำให้ใช้สารชีวภัณฑ์ที่เป็นเชื้อราบิวเวอร์เรียผสมเชื้อราเมตาไรเซียม ใช้ป้องกันกำจัดหนอนและแมลงได้หลากหลายชนิด เช่น ด้วงหนวดยาว ด้วงมะพร้าว ปลวก เพลี้ยไฟ เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไก่แจ้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ไรแดง แมลงหวี่ขาว หนอนกระทู้ หนอนกอข้าว หนอนใยผัก หนอนม้วนใบ หนอนหนังเหนียว หนอนหัวดำ แมลงดำหนาม และแมลงวันผลไม้ ซึ่งเป็นพาหะให้เกินโรคใบด่างได้ โดยไม่เป็นอันตราย แถมยังเข้ากำจัดศัตรูพืชแบบจำเพาะได้แบบไม่ก่อให้เกิดการดื้อยาอีกด้วย
สรุป
ถึงแม้ว่าการรักษาโรคใบด่างจะไม่หายขาด แต่ถ้าหากพบแล้วทำการถอนทิ้งแล้วฝังกลบทันที รวมถึงพยายามป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจาย หรือเกิดขึ้นภายในแปลง ก็จะช่วยลดความสูญเสียด้านผลผลิตได้ ดังนั้น จึงควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก รวมถึงใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อทำการดูแลแปลงพืชให้แข็งแรงและปราศจากโรคใบด่างเป็นดีที่สุด