หากพูดถึง ‘กุหลาบ’ หลายคนคงนึกถึงความสวยงาม ตัวแทนแห่งความรัก หรือกลิ่นหอมอันเย้ายวนใจ และด้วยเสน่ห์ที่ถูกจัดอันดับให้เป็นถึงราชินีแห่งดอกไม้ที่ใครหลายคนชื่นชอบ กุหลาบจึงเป็นดอกไม้อีกหนึ่งชนิดที่เกษตรกรไทยเลือกทำการเพาะปลูก แต่สำหรับประเทศที่เป็นเมืองร้อนและมีฝนตกชุกอย่างบ้านเราแล้ว การปลูกกุหลาบให้ออกดอกสวยไม่ใช่เรื่องง่าย เกษตรกรต้องพบเจอกับปัญหาต่างๆ ทั้งโรค แมลง และอาการดอกโรยจะเหลือแต่ใบ หรือยืนต้นแห้งตายอยู่บ่อยครั้ง
ไม่ต้องกังวลใจไป…วันนี้เราได้รวบรวมวิธีการดูแลกุหลาบให้ปราศจากโรคและแมลงกวนใจด้วยเทคนิคง่ายๆ ที่มือใหม่หัดปลูกก็ทำตามได้ เพียงแค่รู้และเข้าใจใน 3 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 : เรียนรู้วิธีปลูกกุหลาบเบื้องต้น
จะดูแลกุหลาบได้ดี ก็ต้องเรียนรู้วิธีการปลูกกุหลาบที่ถูกต้องเสียก่อน โดยเราจะขอแบ่งออกเป็น 5 เรื่องที่คุณต้องรู้เกี่ยวกับวิธีการปลูกกุหลาบ ดังนี้
- สายพันธุ์กุหลาบ กุหลาบนั้นมีหลายสายพันธุ์ แต่กุหลาบที่พอจะทนทานต่ออากาศร้อนของบ้านเราเลี้ยงง่าย แถมยังออกดอกสม่ำเสมออาจไม่ใช่ทุกสายพันธุ์ที่มีอยู่บนโลกใบนี้ โดยสายพันธุ์กุหลาบที่คนไทยนิยมปลูกกันมักจะเป็นพันธุ์ที่ทนต่อสภาพอากาศร้อน รวมถึงทนต่อโรคและแมลงได้ดี เช่น กุหลาบพวง กุหลาบเลื้อย กุหลาบอังกฤษ กุหลาบมอญ กุหลาบวาเลนไทน์ ฯลฯ
- รูปแบบการปลูก คุณสามารถเลือกได้ว่าจะปลูกกุหลาบลงดินหรือลงกระถาง โดยอาจจะคำนึงถึงเรื่องของพื้นที่และบริเวณที่ต้องการปลูกเป็นหลัก เช่น หากจะปลูกลงดินก็ควรมีพื้นที่ในการปลูกค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องระวังเรื่องการระบายน้ำและระยะห่างระหว่างทรงพุ่มกุหลาบ เพื่อให้ได้พุ่มสวยงามและการออกดอกที่สมบูรณ์มากที่สุด
- การเตรียมดินและบำรุงดิน ดินที่นำมาปลูกควรเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย โดยก่อนปลูกให้รองก้นหลุมด้วยไมคอร์ไรซ่า ซึ่งเป็นเชื้อราที่อาศัยอยู่กับรากพืช เป็นประโยชน์ต่อการเร่งการเจริญเติบโตของรากพืช ช่วยให้รากแตกแขนงได้ดี และสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าที่อาจเกิดขึ้นได้
ส่วนการบำรุงระหว่างการปลูกนั้นควรให้ปุ๋ยไนโตรเจนสูง เพื่อทดแทนธาตุอาหารที่จุลินทรีย์นำไปใช้ รวมถึงอาจจะอาจพ่นธาตุอาหารรองบางชนิด เช่น ธาตุแคลเซียมและโบรอน จะช่วยในการแบ่งเซลล์และการงอกของเกสร เพิ่มปริมาณการติดผลต่อช่อ ช่วยกระตุ้นการเปิดตาดอก ขยายช่อดอกได้ด้วยปุ๋ยที่ช่วยให้พืชเจริญเติบโตดี มีความต้านทานต่อโรค ทำให้ดินร่วนซุย เพิ่มจุลินทรีย์ในดิน และเพิ่มธาตุอาหารรองและธาตุอาหารเสริมในดินได้ อีกทางหนึ่งด้วย - แสงแดด ควรเลือกปลูกพื้นที่ที่มีแสงแดดส่องถึงอย่างน้อย 6 ชั่วโมง มีอากาศโปร่งโล่ง และไม่ร้อนเกินไป รวมถึงไม่ควรปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ เพราะอาจจะทำให้กุหลาบออกดอกเพียงด้านเดียว เนื่องจากแสงแดดส่องไปไม่ถึงทั่วทั้งต้น
- การรดน้ำ ควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอทุกวันในตอนเช้าที่มีแสงแดดอ่อนๆ กุหลาบชอบน้ำปานปลาง จึงควรรดน้ำพอให้ดินชุ่มชื้น และไม่ควรรดน้ำในช่วงที่มีแสงแดดแรง หรือฝนตกชุก เพราะอาจทำให้เกิดโรคตามมาได้ง่าย
ขั้นตอนที่ 2 : เรียนรู้เรื่องโรคและแมลงศัตรูพืชของกุหลาบ
ปัญหาที่มักเกิดกับการปลูกกุหลาบเลยก็คือ ปัญหาเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืช โดยโรคที่พบบ่อยที่สุดจะเป็น โรคราน้ำค้าง โรคราแป้ง และใบจุดตากบ ซึ่งจะมีลักษณะและอาการที่สังเกตได้ ดังนี้
- โรคราน้ำค้าง
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Peronospora spasa พบได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูหนาวที่มีน้ำค้างที่ใบได้ง่าย
ลักษณะของโรค : อาการจะแสดงบน ใบ กิ่ง คอดอก กลีบเลี้ยง และกลีบดอก โดยใบจะสังเกตเห็นง่ายที่สุดเพราะจะร่วงอย่างรวดเร็ว และในใบอ่อนดูตก ใต้ใบแห้งเป็นสีม่วงแดง ถ้าเป็นมากจะเหี่ยวและแห้งไป ส่วนใบแก่ ก้านดอกและกลีบเลี้ยงจะเป็นแผลรูปริ้วสีน้ำตาลคล้ายสนิม หากปล่อยให้โรคลามไปทั่วต้นกุหลาบจะตายในที่สุด - โรคราแป้ง
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Podosphaera pannosa มักพบในพื้นที่ปลูกที่มีอากาศหนาวเย็น น้ำค้างลงจัดหรือในสภาวะที่ปลูกในโรงเรือนตลอดเวลา
ลักษณะของโรค : บริเวณใบเหมือนมีฝุ่นแป้งมาจับและพองงอ หากโดนเชื้อทำลายจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ม่วง หรือน้ำตาลเเดง ร่วง และพบเส้นใยสีขาวบนใบและกิ่งจะเห็นเส้นใยของเชื้อราได้ทั้งบนเเละใต้ใบชื้นปกคลุม หากทิ้งไว้นานๆ ต้นกล้าจะแห้งและตายไปในที่สุด - ใบจุดตากบ
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อรา Cercospora rosicola บนใบเปียกในเวลากลางคืนทำให้เชื้อราแพร่กระจายได้ง่าย จึงมักพบได้ง่ายในฤดูฝน
ลักษณะของโรค : มักจะพบรอยจุดสีดำหรือน้ำตาลที่ขอบจุดไม่ชัดเจนรูปร่างคล้ายกับหยดหมึกที่แพร่ตามใบ ตรงกลางมีลักษณะเป็นจุดแห้งบางจุดคล้ายกับดวงตาของกบ ต่อมาแผลจะขยายรวมกันเป็นแผลใหญ่ขึ้น ในกรณีที่รุนแรง แผลเป็นสีน้ำตาลเข้มมีขอบแผลเข้มกว่าจนถึงสีดำ จากนั้นใบจะเริ่มเหลืองและร่วงหลุดไปเรื่อยๆ
ส่วนแมลงศัตรูพืชที่นับว่าเป็นปัญหามากที่สุดคือไรแดง รองลงมาคือ เพลี้ยไฟ ซึ่งศัตรูพืชทั้ง 2 ชนิดนี้จะระบาดในกุหลาบทุกสายพันธุ์และทุกจังหวัดที่ปลูกเลยทีเดียว
ขั้นตอนที่ 3 : เรียนรู้วิธีดูและกุหลาบให้ปราศจากโรคและแมลง
สำหรับวิธีการดูแลกุหลาบให้สวยงาม ออกดอกเต็มที่และปราศจากโรคและแมลงกวนใจนั้น คุณสามารถใช้ชีวภัณฑ์ในการฟื้นฟู บำรุง กำจัด และป้องกันต้นกุหลาบตามแบบฉบับออแกนิคได้ ดังนี้
รักษาอาการที่เกิดจากโรค
การกำจัดเชื้อราต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคใบจุดตากบ, ราน้ำค้างหรือราแป้ง แนะนำให้ใช้แบคทีเรียบาซิลลัส เวเลเซนซีส จุลินทรีย์ที่มักพบอาศัยอยู่บริเวณรอบรากพืช ซึ่งช่วยควบคุมหรือยับยั้งการเกิดโรคพืชที่มีสาเหตุจากเชื้อราและแบคทีเรีย และช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชได้เป็นอย่างดี
หรือใช้ไตรโคเดอร์มา ซึ่งเป็นการป้องกันด้วยวิธีการใช้ชีวภัณฑ์เข้าช่วยแทนการใช้สารเคมีที่ปลอดภัยมากๆ สำหรับผู้ใช้งาน โดยเชื้อราไตรโคเดอร์มา ที่ช่วยกระตุ้นให้พืชสร้างภูมิคุ้มกัน และป้องกันโรคที่มีสาเหตุจากเชื้อรา และช่วยกระตุ้นให้ระบบรากพืชแข็งแรง ดูดกินอาหารได้มากขึ้น
วิธีใช้ : สามารถฉีดพ่นหรือราดโคนได้เลยทุก 3-4 วัน พร้อมเติมสารจับใบที่จะช่วยลดแรงตึงผิวในน้ำ ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ที่ฉีดพ่นสามารถยึดเกาะบนผิวใบได้นานขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดการสูญเสียปุ๋ยจากการชะล้างจากฝนได้ โดยในที่นี้แนะนำให้ใช้สารจับใบที่เป็นสูตรธรรมชาติ เพราะไม่อันตราย และใช้ได้สำหรับคนที่ปลูกภายในบ้านที่มีเด็กและสัตว์เลี้ยงด้วย
รักษาอาการที่เกิดจากแมลง
ป้องกัน-กำจัดแมลงเพลี้ยไฟให้อยู่หมัดแบบออแกนิก เพื่อการหลีกเลี่ยงการใช้หรือสัมผัสสารเคมีอันตราย แนะนำให้ใช้ชีวภัณฑ์ที่มีเชื้อราบิวเวอร์เรียเข้มข้น สามารถใช้ป้องกันกำจัดศัตรูพืชจำพวกเพลี้ยต่างๆ ทั้งช่วงตัวอ่อนและวัยแก่ได้ โดยใช้ร่วมกับสารจับใบสูตรธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตรายเพิ่มเติม
ส่วนการป้องกันกำจัดไรแดงหรือไรขาว ควรใช้เป็นเชื้อราเมตาไรเซียม ร่วมกับสารจับใบ โดยจะนิยมใช้กำจัดหนอนและแมลง เช่น ปลวก ด้วงหนวดยาว ด้วงมะพร้าว ด้วงแรด ด้วงหมัดผัก หนอนหัวดำ แมลงดำหนาม ตัวอ่อนด้วงชนิดต่างๆ ไรแดง และแมลงวันผลไม้
วิธีใช้: นำไปฉีดพ่นทางใบในช่วงเย็น ที่มีแสงแดดอ่อน ในกรณีที่ฉีดป้องกัน ให้ฉีดทุกๆ 10-15 วัน แต่ถ้าเป็นกรณีพบแมลงระบาด แนะนำให้ฉีดทุกๆ 3-5 วัน จะช่วยป้องกันการระบาดหนักได้เป็นอย่างดี
สรุป
หากคุณเป็นมือใหม่ที่เริ่มต้นปลูกกุหลาบอยู่ละก็…วิธีดูแลกุหลาบที่แนะนำในบทความนี้คงจะช่วยทำให้กุหลาบออกดอกได้สม่ำเสมอ แม้จะมีโรค – แมลงรบกวนบ้างแต่ก็ยังสามารถควบคุมดูแลได้แบบอยู่หมัดด้วยสารชีวภัณฑ์และวิธีการใช้งานที่แนะนำ
ซึ่งสารชีวภัณฑ์นี้ทั้งปลอดภัยและช่วยกำจัดโรคและแมลงเป้าหมายได้จริง จึงเหมาะจะใช้ทั้งในฟาร์ม สวน หรือแม้แต่คนที่อยากจะปลูกกุหลาบไว้ประดับบ้านก็สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยด้วยตัวคุณเอง