Thai TH English EN

วิธีเลี้ยงไส้เดือนดิน ปุ๋ยชั้นดีของสายเกษตรอินทรีย์

รู้หรือไม่ว่าการเลี้ยงไส้เดือนดินมีประโยชน์หลายทาง ไม่ได้ใช้เป็นแค่โปรตีนสำหรับการเลี้ยงสัตว์อย่างเช่น ปลา ไก่ เท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในแง่ของการแพทย์ สภาพแวดล้อม และสำคัญอย่างยิ่งต่อการทำเกษตรกรรมในแนวทางการทำเกษตรอินทรีย์ ว่าแต่ไส้เดือนดินนี้คืออะไร มีประโยชน์ขนาดไหน จะมีวิธีเลี้ยงอย่างไรบ้างที่ช่วยทำให้การทำเกษตรอินทรีย์มีประสิทธิภาพขึ้น…วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกัน

ไส้เดือนดิน คืออะไร?

หากพูดให้เข้าใจแบบง่ายๆ ไส้เดือนดิน คือ ผู้ช่วยของชาวสวน ชาวไร่ ในการย่อยสลายซากอินทรีย์ในระบบนิเวศ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามลักษณะการกินอาหารและการอยู่อาศัย ได้แก่ 

  1. ไส้เดือนดินที่อาศัยอยู่ตามผิวดินหรือใต้ซากอินทรีย์ หรือที่เรียกกันว่า ไส้เดือนดินสีแดง
  2. ไส้เดือนดินที่อาศัยอยู่ ใต้ดินโดยการขุดรูอยู่ หรือที่เรียกกันว่า ไส้เดือนดินสีเทา
ไส้เดือนดินคืออะไร

โดยไส้เดือนดินสีเทาจะมีลักษณะตัวใหญ่ ลำตัวมีสีเทาดำ ไส้เดือนประเภทนี้จะเหมาะสำหรับการเลี้ยงในดินแปลงเกษตร ส่วนไส้เดือนดินสีแดงจะเป็นไส้เดือนตัวเล็ก มีลำตัวสีแดงอย่างชัดเจน อาศัยอยู่บนผิวดินบริเวณที่มีซากอินทรีย์ทับถมกันมาก และมีความชื้นสูงตลอดปี เช่น บริเวณร่องน้ำทิ้งที่ล้าง จานที่มีเศษอาหารจากครัวเรือน และสามารถนำมาเพาะเลี้ยง เพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีกด้วย

ประโยชน์ของไส้เดือนดิน

ไส้เดือนดินถือเป็นสัตว์สารพัดประโยชน์เลยก็ว่าได้ เพราะมีบทบาทสำคัญในหลายวงการด้วยกัน เช่น

ประโยชน์ของไส้เดือนดินต่อสิ่งแวดล้อม

  • ไส้เดือนดินมีหน้าที่สำคัญในการปรับปรุงโครงสร้างหน้าดินให้ร่วยซุย ระบายน้ำและอากาศได้ดี 
  • เมือกของไส้เดือนดินยังทำให้เกิดเกิดเม็ดดินและกักเก็บความชื้นในดินได้ดี 
  • ช่วยแพร่กระจายจุลินทรีย์ในดินหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มที่มีความสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และย่อยสลายฟอสเฟตจากดิน
  • ลดการฝั่งกลบขยะไส้เดือนช่วยพลิกกลับดินโดยการกินดินทำให้แร่ธาตุในดินผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน 
ประโยชน์ของไส้เดือนดิน

ประโยชน์ของไส้เดือนดินต่อการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์

  • ช่วยกำจัดพวกอาหารเหลือในตู้เย็นอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการย่อยเศษอาหารที่เหลือของไส้เดือนดินจะนำมาซึ่งปุ๋ยที่นำไปใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชต่อได้
  • ปุ๋ยจากมูลไส้เดือนเอาไปใช้เป็นดินรองพื้นปลูกพืช หรือจะต่อยอดด้วยการเอาปุ๋ยนี้มาทำน้ำหมัก หมักเป็นเอนไซม์เมือกไส้เดือนช่วยบำรุงพืชได้ด้วย
  • ใช้เลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ ผลิตไส้เดือนเป็นอาหารโปรตีน (vermiculture) สำหรับเลี้ยงเป็ดหรือกบได้

ประโยชน์ของไส้เดือนดินต่อการแพทย์

รักษาโรคข้ออักเสบ แผลอักเสบ โรคผิวหนัง และสลายลิ่มเลือดในหลอดเลือดได้

วิธีเลี้ยงไส้เดือนดิน

ด้วยประโยชน์ที่มีอยู่มากมาย ในปัจจุบันนี้จึงมีการเพาะเลี้ยงไส้เดือนดินกันค่อนข้างแพร่หลาย แล้วแต่วัตถุประสงค์การนำไปใช้ ซึ่งก็มีวิธีการเลี้ยงที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ผู้เลี้ยงจะศึกษาและปรับปรุงให้เข้ากับวัตถุประสงค์ของตน วันนี้เราจึงรวบรวมวิธีการเลี้ยงไส้เดือนดิน มาให้ทั้งหมด 5 วิธีด้วยกัน ก็ลองนำไปปรับใช้ดูว่า วิธีไหนเหมาะสมกับพื้นที่ และวัตถุประสงค์ในการเลี้ยงของคุณมากที่สุด

  1. การเลี้ยงไส้เดือนดินในภาชนะต่างๆ

เป็นการเลี้ยงไส้เดือนดินไว้ในภาชนะที่หาได้ง่าย เช่น กระบะ กระถางปลูกต้นไม้ ลังไม้ บ่อซีเมนต์ เป็นต้น เป็นวิธีการเลี้ยงไส้เดือนดินสำหรับคนที่ไม่มีพื้นที่ ไม่ต้องการสร้างโรงเรือน แค่มีพื้นที่ 1 ช่องกระเบื้องก็เลี้ยงได้แล้ว

วิธีเลี้ยงไส้เดือนในภาชนะ

วิธีทำ

  • เตรียมภาชนะสำหรับการเลี้ยงที่สูงพอประมาณ ทำการเจาะรูเพื่อระบายน้ำเผื่อมีน้ำขัง
  • ใส่ดินขี้วัวหมักลงไปครึ่งภาชนะโดยชิดฝั่งใดฝั่งหนึ่ง และมีปริมาณ 10 เท่าของจำนวนไส้เดือนที่จะเลี้ยง
  • นำเศษผักผลไม้ที่เตรียมไว้เป็นอาหารไส้เดือนใส่ลงไปในดิน โดยจะต้องใส่อาหารไม่เกิน 1 เท่าตัวของปริมาณไส้เดือน
  • ทำการกลบเศษอาหารเหล่านั้นเพื่อป้องกันไม่ให้แมลงมาตอม แมลงอาจเป็นอันตรายกับไส้เดือน
  • ฉีดสเปรย์เอนไซม์ลงไปให้ทั่วดิน เพื่อให้เมือกไส้เดือนในน้ำเอนไซม์แต่งกลิ่นดิน ทำให้ไส้เดือนดินรู้สึกคุ้นชิน
  • นำไส้เดือนลงไป โดยใส่ไส้เดือนในบริเวณว่างพร้อมกับดินเก่าที่ไส้เดือนดินเคยอยู่ หลังจากนั้นให้โรยมูลไส้เดือนโรยกลบลงไปนิดหน่อย ไส้เดือนจะปรับตัวได้ง่ายขึ้น
  • หาที่จัดวางที่เหมาะสมให้ไส้เดือน สามารถเลี้ยงในอุณหภูมิห้องปกติ แต่ต้องให้พ้นจากแสงแดดและหลบฝน
  1. การเลี้ยงไส้เดือนดินในภาชนะเป็นชั้นๆ

เป็นการเลี้ยงไส้เดือนดินบนชั้นไม้หรือตู้พลาสติกเป็นการเลี้ยงที่ใช้พื้นที่เล็กๆ ได้ดี แต่มีข้อจำกัดคือต้องใช้แรงงานในการจัดการค่อนข้างมากและสิ้นเปลืองเวลา

วิธีเลี้ยงไส้เดือนในภาชนะเป็นชั้น

วิธีทำ

  • ทำการเจาะรูระบายอากาศด้านบน ตามจำนวนชั้นที่ต้องการเลี้ยงไส้เดือน ยกเว้นชั้นสุดท้าย เพื่อเก็บไว้สำหรับรองรับน้ำหมักจากเศษอาหารและที่ไส้เดือนขับถ่าย
  • เตรียมวัสดุสำหรับเป็นที่อยู่ของไส้เดือนดินโดยควรเป็นวัสดุที่เก็บความชื้นได้ดี มีความพรุน เช่น กากใยมะพร้าว ผสมมูลวัวแห้ง รดน้ำพอชุ่ม โดยใส่ไว้ในกะละมังหรือลิ้นชัก ตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้นสุดท้าย
  • นำไส้เดือนดินมาใส่ประมาณ 100-200 ตัวต่อชั้น
  • ใช้กระดาษกล่องที่ใช้ใส่ของแช่น้ำให้ชุ่มวางบนวัสดุที่ให้ไส้เดือนอยู่ทุกชั้น เพื่อเป็นตัวช่วยสร้างความชื้น และเป็นอาหารสำหรับไส้เดือน
  • นำเศษอาหารประเภทวัสดุอินทรีย์ เช่น เศษผัก ผลไม้ ไปจนถึงไม้ผุ ๆ เพื่อเป็นอาหารสำหรับไส้เดือน และเพื่อให้ไส้เดือนย่อยสลายเป็นปุ๋ย
  1. การเลี้ยงไส้เดือนดินในแปลงกลางแจ้ง

เป็นการเลี้ยงไส้เดือนดินที่ใช้เทคนิคง่ายๆ เพื่อให้ไส้เดือนทำหน้าที่พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ตามธรรมชาติ ผักปลอดสาร กินแล้วสบายใจ ไม่ต้องซื้อปุ๋ยไปตลอดกาล

วิธีทำ

  • ตั้งกองอาหารเป็นแปลงสำหรับเลี้ยงไส้เดือนดินแบบธรรมชาติ
  • ทำการคลุมอาหารของไส้เดือนดินด้วยฟางและตาข่ายสำหรับป้องกันสัตว์มาคุ้ย เขี่ย แต่มีข้อจำกัดตรงที่ไส้เดือนดินสามารถเลื้อยหนีออกได้ง่ายเมื่อสภาวะไม่เหมาะสม เช่น อาหารหมดหรือน้ำท่วม เป็นต้น
  1. การเลี้ยงไส้เดือนดินในโรงเรือน

เป็นการเลี้ยงที่นิยมสำหรับฟาร์มเกษตรกรส่วนใหญ่ เพราะสามารถจัดการสภาพแวดล้อมต่างๆ ในการเลี้ยงไส้เดือนดินได้ง่าย เช่น การก่อบล็อกสำหรับทำซองหรือคอกเลี้ยงไส้เดือนดิน โดยตัวโรงเรือนจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่จะขึ้นอยู่กับต้นทุนของผู้เลี้ยงไส้เดือนดินเป็นหลัก และต้องเป็นพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แดงส่องบ้างแต่ไม่ให้ร้อนจัด

วิธีเลี้ยงไส้เดือนในโรงเรือน

วิธีทำ

  • ส่วนใหญ่โรงเรือนจะใช้บ่อสำหรับเลี้ยงไส้เดือนดิน โดยมีความยาวตามต้องการ ความกว้างประมาณ  1 เมตร ส่วนความลึกไม่เกิน 50 เซนติเมตร เพื่อให้สะดวกในการจัดการดูแล
  • ควรก่อสร้างบริเวณด้านข้างหรือด้านหลังโรงเรือนให้เป็นบ่อเก็บน้ำหมักมูลไส้เดือนดินได้
  • ควรเตรียมวัสดุรองพื้นบ่อด้วยฟางแห้ง ขี้เลื่อยผสมกับน้ำจนปั้นเป็นก้อนได้ หลังจากนั้นนำไปคลุมทับด้วยกระสอบป่าน หลังจากนั้นรอ 7 วันค่อยนำไส้เดือนดินมาลง
  • ให้อาหารไส้เดือนดินด้วยขยะสด เพื่อช่วยลดปัญหาขยะได้
  • รู้จักการแยกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ออกจากลูกที่เกิดใหม่ เพื่อไม่ให้บ่อที่เลี้ยงมีจำนวนไส้เดือนเยอะและเกิดความร้อนมากเกินไป
  1. การเลี้ยงไส้เดือนดินอย่างมีระบบ

เป็นวิธีการผลิตไส้เดือนดินแบบอัตโนมัติด้วยการเลี้ยงไส้เดือนดินแบบมีระบบ ทำให้สามารถดูแลและจัดการได้ง่าย แต่มีข้อจำกัดที่ต้นทุนสูง ดังนั้น ต้องมีการศึกษาพันธุ์ที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด 

ข้อควรระวังในการเลี้ยงไส้เดือนดิน

  • การใส่เศษอาหารเยอะเกินไปอาจทำให้การย่อยของไส้เดือนทำได้ช้าลง 
  • สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือเศษอาหารที่มีฤทธิ์เผ็ดหรือเป็นกรด เช่น พริก เปลือกมะนาว หรือน้ำส้มสายชู เหมาะที่จะใส่ในการเพาะเลี้ยงที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่
  • เศษอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ อาจเป็นตัวเรียกแมลง มด หรือหนู มาก่อกวนหรือเป็นอันตรายต่อไส้เดือนได้ 
  • การใส่ข้าวควรระวังเรื่องมดในข้าว 
  • ในกรณีไม่อยู่บ้านหลายวัน สามารถให้ความชื้นโดยการฉีดน้ำ ให้อาหารไว้ได้ แต่ก็ไม่ควรทิ้งไส้เดือนไว้นานกว่า 1 สัปดาห์
ข้อระวังในการเลี้ยงไส้เดือน

สรุป 

สรุปแล้วการเลี้ยงไส้เดือนดินนี้มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับคนที่ทำการเกษตรแบบอินทรีย์ เพราะนี่คือสิ่งมีชีวิตที่ช่วยผลิตปุ๋ยหมักคุณภาพดีส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์ถือว่า เป็นการช่วยลดต้นทุน ลดการใช้สารเคมีได้ง่าย และเกษตรกรเองก็จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยดูแลระบบนิเวศโดยรอบพื้นที่เพาะปลูกให้คงความอุดมสมบูรณ์ ปลอดมลพิษ ที่สำคัญไปกว่านั้นสุขภาพของเกษตรกรก็จะดีตามไปด้วย

Add LINE friend
เพื่อปรึกษาโรคพืชฟรี!

เพิ่มเพื่อน

บทความยอดนิยม

บทความที่เกี่ยวข้อง