Thai TH English EN
ภาพปกบทความปลูกถั่วเขียว

แล้งนี้ ชวนปลูกถั่วเขียว ดูวิธีการปลูกยังไงให้มีรายได้ดี 

ในช่วงฤดูแล้งที่มีฝนตกน้อย ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ใช้ในงานเกษตรกรรมมีจำนวนจำกัดมากขึ้น แน่นอนว่า เกษตรกรคงจะหาวิธีหลีกเลี่ยงการทำสวน ทำนา อย่างเช่น นาปรังที่ต้องใช้ปริมาณน้ำมากๆ เพื่อป้องกันการเสียหายจากการขาดแคลนน้ำไปในช่วงฤดูนี้

แต่การเลิกทำเกษตรกรรมที่เป็นอาชีพหลักในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก็ย่อมทำให้ขาดรายได้ ทางออกของการแก้ปัญหานี้ก็อาจจะไม่ใช่การหันเหไปจับอาชีพเสริมอื่นๆ แล้วปล่อยให้ที่ดินรกร้างว่างเปล่า แต่ควรจะเปลี่ยนเป็นการเปลี่ยนเป็นการปลูกพืชที่เหมาะสำหรับปลูกทดแทนการทำนา ทั้งพืชไร่ พืชสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ และพืชผัก โดยเฉพาะ ‘การปลูกถั่วเขียว’ ซึ่งสร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

รู้จัก ‘ถั่วเขียว’ พืชไร่ในหน้าแล้ง แหล่งรายได้เสริมของเกษตรกร

ทำไมถั่วเขียวจึงเป็นพืชที่ควรปลูกในช่วงหน้าแล้งนี้? นั่นก็เป็นเพราะ ‘ถั่วเขียว’  ถือพืชไร่ที่มีอายุสั้นเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย แถมยังสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ทำให้เป็นพืชไร่ที่เหมาะสำหรับปลูกในนาหลังจากการเก็บเกี่ยว แถมยังใช้น้ำน้อยในการเพาะปลูกจึงเหมาะสมมากๆ ที่จะหยิบมาเป็นพืชทดแทนในช่วงหน้าแล้งแทนการทำนาตามปกติ 

ปลูกถั่วเขียว

ถั่วเขียวจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ที่เกษตรกรส่วนใหญ่มักปลูกกันคือ ถั่วเขียวผิวมัน และถั่วเขียวผิวดำ โดยถั่วเขียวทั้งสองประเภทนี้จะมีแหล่งปลูกที่เเตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น

  • ถั่วเขียวผิวมัน มีแหล่งปลูกที่สำคัญคือ เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ เป็นต้น
  • ถั่วเขียวผิวดำ มีแหล่งปลูกอยู่ที่ นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ พิจิตร อุทัยธานี ลพบุรี กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย และอุตรดิตถ์

ซึ่งถั่วเขียวทั้ง 2 ประเภทนี้เป็นพืชไร่ที่ให้ผลผลิตดี ทำให้มีเกษตรกรนำพื้นที่นามาปลูกถั่วเขียวในแต่ละปี ประมาณ 3 ล้านไร่เลยทีเดียว

ปลูกถั่วเขียวในช่วงหน้าแล้งดีอย่างไร? 

สำหรับข้อดีของถั่วเขียวนั้นมีมากมาย ทั้งในแง่ของการเป็นพืชไร่ที่นิยมเป็นพืชทนแล้ง ใช้น้ำน้อยตลอดฤดู ทำให้เป็นพืชไร่ทดแทนที่สามารถปลูกได้ในช่วงหน้าเเล้งของแต่ละปี โดยเราจะนำมาใช้ทั้งการบริโภค และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หลายรูปแบบ ได้แก่ ถั่วงอก วุ้นเส้น ขนมหวาน แป้งถั่วเขียว สบู่และครีมทาผิว เป็นต้น ทำให้เป็นพืชที่มีความสำคัญในด้านเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้ในทุกๆ ปี โดยมีราคาจำหน่ายเฉลี่ย 25 บาท/กิโลกรัม

ปลูกถั่วเขียวในช่วงหน้าแล้ง

รวมถึงยังสามารถใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรในการปรับปรุงบำรุงดิน โดยต้นถั่วเขียวสามารถใช้เป็นปุ๋ยพืชสดได้ดีโดยทั่วไปจะให้ปริมาณไนโตรเจนสูงถึง 5 – 6 กิโลกรัมต่อไร่ จึงเหมาะจะเป็นพืชที่ใช้เก็บเกี่ยวทำรายได้เสริมและ ไถกลบซากต้นถั่วเป็นปุ๋ย เพื่อช่วยบำรุงดินได้ช่วงที่เว้นว่างจากการทำนาปรัง ทำให้ดินมีคุณภาพดีมากยิ่งขึ้นได้อีกด้วย

เห็นข้อดีขนาดนี้แล้ว มาเรียนรู้วิธีการปลูกถั่วเขียวเพื่อสร้างรายได้เสริมในช่วงหน้าแล้งนี้ในหัวข้อต่อไปกันได้เลย 

5 ขั้นตอนการปลูกถั่วเขียวในหน้าแล้ง 

สำหรับมือใหม่ที่ไม่เคยปลูกถั่วเขียว แต่อยากจะเริ่มต้นปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดนี้เพื่อสร้างรายได้เสริม เราจะแบ่งขั้นตอนการปลูกออกเป็น 5 ขั้นตอนแบบที่เข้าใจง่ายๆ ให้ได้ลองศึกษา ดังนี้ 

1. ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูกถั่วเขียว

ถึงแม้ถั่วเขียวจะเป็นพืชทดแทนที่ปลูกได้ในช่วงหน้าแล้ง แต่อาจจะไม่เหมาะกับการปลูกในหน้าหนาวของทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะมีอากาศ หนาวเย็น เนื่องจากถั่วเขียวเมื่อต้นเล็กไม่ทนทานต่ออากาศที่เย็นเกินไป ดังนั้น ในภาคดังกล่าวควรจะปลูกหลังจากอากาศหนาวหมดไปแล้ว คือประมาณเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป

ส่วนถ้าหากในภาคอื่นๆ ที่ต้องการให้ได้ผลผลิตดีควรจะปลูกหลังจากช่วงทำนาปีแล้ว ในช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม โดยแนะนำให้ปลูกทันที เพราะจะได้อาศัยปริมาณน้ำในดินสําหรับการเจริญเติบโตของถั่วเขียวแทนการให้นํ้าชลประทาน แต่หากอุณหภูมิในช่วงนี้ต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ควรเลื่อนการปลูกออกไปโดยให้เก็บเกี่ยวในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคมแทนก่อนจะเป็นช่วงที่ฝนตกชุกลงมา

2. การเลือกดินสำหรับปลูกถั่วเขียว

หากต้องการปลูกถั่วเขียวให้ได้ผลผลิตดีควรจะหลีกเลี่ยงบริเวณพื้นที่ที่มีระดับต่ำ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นพื้นที่ดินเหนียวจัด ทำให้ระบายน้ำไม่ดี ส่งผลต่อต้นถั่วเขียวที่จะมีโอกาสแคระแกร็น แสดงอาการใบเหลืองและให้ผลผลิตต่ำ

ดังนั้น ควรจะเลือกปลูกในพื้นที่ราบเรียบ มีลักษณะเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินร่วนเหนียว เกาะตัวกันเป็นโครงสร้างที่โปร่ง เพื่อให้สะดวกต่อการทดน้ำและระบายน้ำ แต่ถ้าหากไม่สามารถเลี้ยงปลูกในบริเวณดินเหนียวได้จริงๆ ควรจะยกร่องปลูกแทน 

3. รูปแบบการปลูกถั่วเขียว

สำหรับลักษณะการปลูกถั่วเขียวจะทำได้ทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ

  • การปลูกแบบหว่าน : วิธีนี้ควรเตรียมดินปลูกให้ราบเรียบสม่ำเสมอพอให้หว่านเมล็ด ไม่เช่นนั้นอาจได้ผลผลิตคุณภาพต่ำ โดยการหว่าน 1 ไร่ ควรใช้เมล็ดอยู่ที่ 4-5 กิโลกรัมและหว่านลงดินไปอย่างสม่ำเสมอ
  • การปลูกแบบแถว : โดยจะต้องเว้นระยะแถวห่างกันประมาณ 50 เซนติเมตร เว้นระยะหลุมประมาณ 20 เซนติเมตร แนะนำให้หยอดหลุมละ 3-4 เมล็ด และหลังจากงอกแล้วถอนให้เหลือ 15-20 ต้น/แถว
  • การใช้เครื่องปลูก : เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก แต่มีการลงทุนมากขึ้น โดยจะใช้เครื่องหยอดเมล็ดถั่วเขียว ทำการหยอดเมล็ดพันธุ์ให้มีระยะห่างระหว่างต้นที่เหมาะสม  เพื่อให้สะดวกในการพรวนดิน กำจัดวัชพืช และใส่ปุ๋ย

และก่อนที่จะทำการปลูกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งควรจะต้องทดสอบเมล็ดพันธุ์ ถ้าหากมีความงอกต่ำกว่าร้อยละ 80 ควรเพิ่มจำนวนเมล็ดพันธุ์ที่จะใช้ปลูกให้มากขึ้นด้วย

ขั้นตอนการปลูกถั่วเขียวในหน้าแล้ง

4. การใส่ปุ๋ยและการดูแล

แม้ถั่วเขียวจะเป็นพืชที่ใช้เวลาปลูกในระยะสั้นเเต่ก็ยังต้องบำรุงเเละดูแลเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยควรที่จะให้ปริมาณธาตุอาหารที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตให้ดียิ่งขึ้น อย่างการเลือกใช้ปุ๋ยที่ประกอบด้วยธาตุแคลเซียมและโบรอน ช่วยในการแบ่งเซลล์และการงอกของเกสรตัวผู้ ให้งอกเข้าไปผสมกับไข่ของเกสรตัวเมีย ซึ่งเหมาะกับพืชประเภทถั่วมากๆ เนื่องจากมีข้อดีต่างๆ ดังนี้

  • ช่วยเพิ่มปริมาณการติดผลต่อช่อ
  • สามารถป้องกันไม่ให้ผล เถา หรือฝักแตก 
  • ทำให้เนื้อแน่น ป้องกันแกนไส้นิ่ม ทำให้รสชาติและสีดีขึ้น
  • ช่วยในการเคลื่อนย้ายน้ำตาลจากลำต้น ใบ มาสู่ผลและเมล็ด
  • ผลมีการเจริญพัฒนาเติบโตอย่างสมบูรณ์ ลดการหลุดร่วง และขยายขนาดของผลได้ดี

นอกจากนี้การเพิ่มธาตุอาหารรองและอาหารเสริม ระหว่างการปลูกด้วยการสำหรับฉีดพ่นทางใบ ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมธาตุอาหาร ช่วยทำให้พืชตระกูลถั่วดูดซึมเข้าสู่ใบได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้ต้นพืชแข็งแรง เนื่องจากธาตุอาหารเหล่านี้ช่วยส่งเสริมการแตกใบอ่อน, การติดเมล็ด, การเพิ่มฮอร์โมนและเอนไซม์ต่างๆ ทำให้สังเคราะห์แสงได้ดีขึ้นนั่นเอง

5. การให้น้ำถั่วเขียว

เนื่องจากเป็นพืชทนแล้งและใช้น้ำน้อย โดยตลอดฤดูปลูกจะใช้น้ำอยู่ที่ประมาณ 220 มิลลิเมตร แต่ช่วงที่ต้องดูแลเป็นพิเศษเลยก็คือ ช่วงที่กำลังจะออกดอก และติดฝัก ต้นถั่วเขียวควรจะได้รับน้ำเพียงพอ มิฉะนั้นผลผลิตอาจตกต่ำได้

สรุป

ถั่วเขียวนับได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างหนึ่งที่ต้องการบริโภคอย่างไม่มีขีดจำกัด ทั้งการนำมาทำอาหารในครัวเรือน การมีปริมาณวิตามินและเกลือแร่หลายชนิด หรือการนำมาทำเป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งนับวันก็จะเพิ่มความต้องการบริโภคมากขึ้น จึงนับเป็นพืชอย่างหนึ่งที่มีคุณค่า และน่าสนับสนุนให้ปลูกกันมากยิ่งขึ้นในทุกๆ ปี 

ซึ่งถ้าเกษตรกรไทยหันมาใช้วิธีการปลูกถั่วเขียวในช่วงหน้าแล้งกันมากขึ้นก็จะช่วยเเก้ปัญหาทั้งเรื่องผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย การขาดแคลนน้ำ การใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ และส่งเสริมการหารายได้ที่ช่วยทดแทนได้ไม่มากก็น้อยในแต่ละปี

Add LINE friend
เพื่อปรึกษาโรคพืชฟรี!

เพิ่มเพื่อน

บทความยอดนิยม

สินค้าที่เกี่ยวข้อง

บทความที่เกี่ยวข้อง