‘อ้อย’ ถือเป็นอีกหนึ่งพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรไทยนิยมปลูก เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนต่อสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนได้ดี แต่การจะปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตสูงและมีคุณภาพนั้นกลับไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากอ้อยมีศัตรูพืชและโรคที่หลากหลาย โดยเฉพาะในช่วงก่อนหน้าฝน โดยเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคมที่เกษตรกรมักจะพบวิกฤตของการระบาดของ ‘จั๊กจั่น’ ไร่อ้อย ศัตรูพืชที่มักสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตรค่อนข้างมาก
ทำความรู้จัก ‘จั๊กจั่น’ แมลงศัตรูพืชใต้ดิน
จั๊กจั่น (Platypleura cespiticola Boulard) เป็นแมลงที่เรารู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี พบได้ในแถบเขตร้อน โดยในประเทศไทยมักจะพบได้ตามป่าเป็นส่วนใหญ่ แต่เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่าที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกปี ทำให้ส่งผลกระทบต่อสมดุลของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ปริมาณอาหารตามธรรมชาติของจั๊กจั่นมีจำนวนลดลง
นี่จึงเป็นสาเหตุทำให้จั๊กจั่นเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตร และกลายเป็นแมลงศัตรูพืชที่เกษตรกรไร่อ้อยควรระมัดระวัง และเฝ้าสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการระบาดรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อไป
วงจรชีวิตของจั๊กจั่น
การเจริญเติบโตของจักจั่นจะเป็นแบบไม่สมบูรณ์ คือ ระยะตัวอ่อนมีรูปร่างลักษณะเช่นเดียวกับตัวเต็มวัย ต่างกันที่ตัวอ่อนในระยะแรกไม่มีปีก ส่วนลักษณะวงจรชีวิตของจั๊กจั่นโดยรวมจะอยู่ที่ 2-5 ปี แต่ในบางชนิดก็มีวงจรชีวิตที่ยาวนานถึง 17 ปี โดยจะแบ่งวงจรชีวิตออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1.) ระยะไข่
เมื่อถึงฤดูวางไข่ จั๊กจั่นตัวเมียจะเจาะเส้นกลางใบอ้อยเป็นรูเล็กๆ เพื่อวางไข่ โดยไข่จะใช้เวลาฟักประมาณ 1 – 2 เดือน เมื่อไข่ฟักก็จะกลายเป็นตัวอ่อนร่วงลงสู่พื้นดิน หากเกษตรกรต้องการกำจัดต้นตอของศัตรูพืชให้หมดไปตั้งแต่แรกก่อนจะก่อให้เกิดความเสียหายภายในไร่ก็ควรจะรีบกำจัดตั้งแต่ตอนวางไข่ โดยอาศัยการสังเกตพื้นที่รอบๆ ไร่ล่วงหน้า
2.) ระยะตัวอ่อน
เป็นระยะที่มักจะเข้ามาสร้างความเสียหายให้กับไร่อ้อย โดยตัวอ่อนจะมีขาหน้าที่ใหญ่เพื่อใช้ขุดดิน หลังจากหล่นลงมายังพื้นตัวอ่อนจะขุดดินลงไปและอาศัยอยู่ในดินที่ความลึกตั้งแต่ 30 เซนติเมตร ถึงมากกว่า 2.5 เมตร ตัวอ่อนจะอาศัยอยู่ในดินใช้เวลาประมาณ 6 – 8 เดือน จะคอยดูดกินน้ำเลี้ยงจากรากอ้อย ทำให้ระบบรากเสียหายเกิดอาการเหี่ยว และแห้งตายได้ในที่สุด
วิธีสังเกตว่าจั๊กจั่นอาศัยอยู่ในดินบริเวณไหน ให้สังเกตดูดินที่เป็นแท่งทรงกระบอกกว้างประมาณ 2 เซนติเมตรบิดเป็นเกลียวสูงขึ้นมาจากพื้นดินประมาณ 5-7 เซนติเมตร คล้ายกันดินที่เกิดจากการขุดของไส้เดือนแต่จะมีขนาดใหญ่กว่า
3.) ระยะโตเต็มวัย
ในระยะนี้ตัวอ่อนจะขุดดินเป็นรู้ขึ้นมาเหนือผิวดินและจะไต่ขึ้นมาบนลำต้นเพื่อทำการลอกคราบเป็นตัวโตเต็มวัยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน โดยระยะที่เป็นตัวเต็มวัยจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ในระยะนี้ควรจะหาทางกำจัดตัวโตเต็มวัยไม่ให้ไปแพร่พันธุ์หรือวางไข่ได้อีก
วิธีการป้องกันและกำจัดจั๊กจั่นในไร่อ้อย
1. สำรวจรอบแปลงบ่อยๆ โดยสังเกตและมองหาคราบของจั๊กจั่นบนต้นอ้อยหรือบนพื้นดิน และมองหาตัวโดเต็มวัยบนต้นอ้อยเพื่อเตรียมทำการกำจัดเพิ่มเติมด้วย
2. อนุรักษ์ป่าไม้ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของจั๊กจั่นให้มีเพิ่มจำนวนขึ้น เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายสวน ไร่ นา ของเกษตรกร เนื่องจากมีพื้นที่อาหารดั้งเดิมของจั๊กจั่นมีไม่เพียงพอ
3. ปลูกพืชสลับหรือพืชหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรการระบาดของจั๊กจั่นในพื้นที่ การปลูกถั่วสลับกับอ้อยที่เราต้องการผลผลิต ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันการระบาดของจั๊กจั่นได้แล้ว
ยังช่วยป้องกันการพังทลายของดิน ยังช่วยเพิ่มรายได้ และยังช่วยบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ด้วย
4. ใช้ศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แมลงหางหนีบ โดยปล่อยแมลงหางหนีบ จำนวน 500 ตัว/ไร่ ก่อนการระบาดของจักจั่น 1 เดือน เพื่อกำจัดตัวอ่อนระยะฝักจากไข่
5. หากเจอตัวอ่อนให้ขุดไถพรวนเอาตัวอ่อนในดินออก รวมถึงตัดใบที่มีไข่ไปทำลายนอกแปลง
6. สังเกตและเก็บตัวโตเต็มวัยในช่วงเวลากลางคืน เพื่อนำไปทำลายหรือนำไปประกอบอาหาร ซึ่งวิธีนี้จะช่วยกำจัดจั๊กจั่นตัวเต็มวัยที่พร้อมจะผสมพันธุ์และวางไข่ได้
7. สร้างความมีส่วนร่วมในชุมชน ทั้งการงดตัดไม้ การหันมาใช้สารชีวภัณฑ์ให้ถูกกับแมลงจำเพาะ รวมไปถึงช่วยกันเฝ้าระวังซึ่งกันและกัน
กำจัดจั๊กจั่นด้วยสารชีวภัณฑ์แทนสารเคมี
สุดท้ายนี้ เกษตรกรไม่ควรใช้สารเคมีหากพบการระบาดของจั๊กจั่น แต่ควรเน้นการใช้สารชีวภัณฑ์ที่เข้าทำลายศัตรูพืชเป้าหมายโดยเฉพาะอย่างการใช้เชื้อราบิวเวอร์เรีย (Beauveria bassiana) ใช้เพื่อกำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด เช่น เพลี้ยต่างๆ ไรแดง แมลงหวี่ขาว หนอนกอ หนอนห่อใบรวมถึงจั๊กจั่นทั้งช่วงตัวอ่อนและวัยแก่ ซึ่งการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและหันมาใช้ชีวภัณฑ์แทน
การเชื้อราบิวเวอร์เรียในการกำจัดจั๊กจั่นจะเข้าไปทำลายศัตรูพืชชนิดนี้จากทางผนังลำตัว รูหายใจ และบาดแผลบนผนังลำตัว เมื่อพบความชื้นที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของเชื้อรา สปอร์ของเชื้อราก็จะแทงทะลุผิวหนังลำตัว พร้อมสร้างเส้นใยที่จะใช้เนื้อเยื่อของจั๊กจั่นเป็นอาหารไว้ภายในลำตัวของจั๊กจั่นมากมาย จนสุดท้ายจั๊กจั่นก็จะตายไปในที่สุด
ซึ่งการใช้เชื้อราบิวเวอร์เรียจะสามารถกำจัดจั๊กจั่นให้มีปริมาณลดลงได้ใน 3-14 วัน (ขึ้นอยู่กับขนาดและวัย) และจั๊กจั่นที่ถูกเชื้อราเข้าทำลายจะแสดงอาการของโรค คือ เบื่ออาหาร กินน้อย อ่อนเพลีย และไม่เคลื่อนไหว ผนังลำตัวจะปรากฏจุดสีดำขึ้น รวมถึงเจอเส้นใยและผงสีขาวปกคลุมตัวจั๊กจั่นที่ถูกเข้าทำลายอีกด้วย
สำหรับวิธีใช้งานสารชีวภัณฑ์ควรฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอร์เรีย ขณะที่จั๊กจั่นที่เป็นแมลงศัตรูพืชยังไม่ระบาด หรือระบาดเล็กน้อย และควรพ่นให้ถูกตัวจั๊กจั่นและแหล่งที่อยู่อาศัยให้ได้มากที่สุด ส่วนเวลาที่ทำการพ่นคือช่วงเวลาเย็น เนื่องจากมีความชื้นและแสงแดดอ่อนๆ ที่เหมาะสม ทั้งนี้ ก็เพื่อตัดวงจรของแมลงศัตรูพืชไม่ให้ระบาดรุนแรงในอนาคตนั่นเอง
สรุป
หากเกษตรกรตระหนัก เรียนรู้ และหาวิธีการจัดการเพื่อป้องกันการระบาดของจั๊กจั่นในไร่อ้อยที่ดีพอ ทั้งการเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ และการใช้จุลินทรีย์หรือสารชีวภัณฑ์ทางธรรมชาติในการควบคุมมากยิ่งขึ้น สมดุลด้านการกำจัดแมลงศัตรูพืชอย่างจั๊กจั่นก็ย่อมเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ หมดกังวลในเรื่องของความเสียหายของผลผลิตที่จะตามมาได้อย่างแน่นอน