จริงๆ แล้ว ศัตรูพืชไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงเรื่องของโรคและแมลงเท่านั้น แม้แต่สัตว์ปีกอย่าง ‘นก’ เองก็มีอัตราที่ทำให้พืชเสียหายได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำนาข้าวมักจะพบเห็นการลักลอบเข้ามาจิกกินเมล็ดข้าว ตั้งแต่เมล็ดอยู่ในระยะน้ำนมจนถึงระยะเก็บเกี่ยวของนกบางชนิด เช่น นกกระติ๊ด นกกระจอก นกกระจาบทอง นกเขาชวา นกเขาใหญ่ และนกพิราบป่า ซึ่งวิธีการป้องกันพืชไร่-พืชสวนในอดีตอย่างการตั้งหุ่นไล่นก อาจจะไม่สามารถต่อกรกับจำนวนของนกที่มีมากและรู้ทันเราได้อีกต่อไป
บทความนี้เราจึงนำอุปกรณ์ไล่นกสุดไฮเทค และมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่กับ ‘การไล่นกด้วยเลเซอร์’ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาฝากกัน ว่าแต่ จะเจ๋งแค่ไหน ตามไปดูพร้อมๆ กันได้เลย!
ใช้เลเซอร์ไล่นก (Agrilaser Autonomic) คืออะไร และดีอย่างไร
อุปกรณ์ไล่นกด้วยเลเซอร์นี้เป็นนวัตกรรมใหม่ที่สร้างขึ้นเพื่อทดแทนวิธีการไล่นกแบบเดิมๆ ที่เริ่มจะไม่ได้ผล เช่น
1.) ใช้ระเบิดปิงปองหรือประทัด, เคาะถังปี๊บให้เกิดเสียงดัง
2.) รูปปั้นคนหรือหุ่นไล่กา
3.) ภูมิปัญญาชาวบ้าน เช่น การนำพริกสดหรือสิ่งต่างๆ ที่นกไม่ชอบ เช่น เมล็ด องุ่น เปลือกส้ม ไปวางไว้ใกล้ๆ กับจุดที่นกมักมาเกาะ เพื่อให้ไอร้อนของพริกทำให้นกเกิดอาการแสบร้อนจนหนีไป
และในเมื่อใช้วิธีการแบบเดิมๆ ไม่ได้ผล เกษตรกรก็ต้องลงแรงด้วยตนเองในการเฝ้าระวังตลอดทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน ซึ่งกินเวลาเกษตรกรไปโดยใช่เหตุ
การใช้เลเซอร์ไล่นก จึงไม่ได้ช่วยแค่ป้องกันผลผลิตเสียหายจากการจิกกินได้เท่านั้น แต่ยังช่วยทุ่นแรงของเกษตรกรในการจัดการงานในฟาร์มให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมยังช่วยขับไล่นกซึ่งเป็นพาหะนำโรคอันตรายต่างๆ ที่มักมากับสัตว์ปีก อย่างเช่น ไข้หวัดนก ซึ่งมีโอกาสติดสู่สัตว์ปีกอื่นๆ ที่เลี้ยงอยู่ภายในฟาร์มได้อีกด้วย
นอกจากนี้ การใช้เลเซอร์ยังถือเป็นอีกวิธีป้องกันอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่พบได้มากในผู้ป่วยที่สัมผัสโดนมูลนกพิราบแล้วไม่ได้ทำความสะอาดมือ หรือสูดดมเชื้อโรคเข้าไปทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ มีอาการตึงๆ ที่ลำคอ ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก มีปัญหาทางด้านการมองเห็น ฯลฯ โดยเฉพาะในเด็ก คนแก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังจะต้องระวังเป็นพิเศษ
การทำงานของเลเซอร์ไล่นก และตัวอย่างฟาร์มที่ใช้งานแล้วได้ผล
สำหรับวิธีการทำงานของอุปกรณ์ไล่นกนี้จะปล่อยแสงสีเขียวข้ามท้องทุ่ง ไร่สวนเกษตรกรเพื่อไล่นกออกจากอาณาเขตที่ต้องการ โดยต้องติดตั้งให้สีของแสงและความยาวคลื่นครอบคลุมในพื้นที่ที่ต้องการ จึงจะสามารถใช้เพื่อรบกวนนกได้สำเร็จ ส่วนคลื่นที่ปล่อยออกมาจะเป็นรังสีอินฟราเรดที่ไม่ได้เป็นอันตราย แถมยังทำให้นกมีจำนวนที่ลดลง 80% ถึง 90%
ส่วนในด้านการใช้งาน เลเซอร์ไล่นกถูกใช้งานแพร่หลายที่ฟาร์มในต่างประเทศ อย่างเช่น Almond Center of Excellence (ACE) ในประเทศออสเตรเลียที่ทำการปลูกองุ่นไวน์ อัลมอนต์ และผลไม้จำพวก Stone Fruit ไม่ว่าจะเป็น พีช เนคทารีน พลัม พลัมคอต หรือเชอร์รี่ ได้ทำการทดลองใช้เลเซอร์ไล่นก AVIX Autonomic Bird Deterrent ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยทำการติดตั้งไว้บนหอคอยให้อยู่เหนือยอดไม้ สามารถควบคุมการทำงานผ่านแอปพลิเคชันได้ทั้งระบบ IOS และ Android
โดยเลเซอร์เหล่านี้จะทำการก่อกวนนกด้วยแสงเลเซอร์เท่านั้น แต่ว่าไม่ทำร้ายนกเหมือนวิธีการอื่นๆ ที่เคยใช้ แถมยังส่งผลดีกว่ามาก เพราะเป็นวิธีการใหม่ที่นกยังไม่คุ้นเคย
หรือในฟาร์มบลูเบอร์รีในประเทศสหรัฐอเมริกาที่แต่ก่อนต้องเสียผลผลิตให้กับนกที่แอบเข้ามากินผลผลิตถึงร้อยละ 25 ของจำนวนผลผลิตทั้งหมด แต่หลังจากใช้อุปกรณ์ไล่นกชนิดนี้ก็ช่วยรักษาผลผลิตไว้ถึงระยะเก็บเกี่ยวถึง 262.5 ตัน คิดเป็นเงินเเล้วมีมูลค่าสูงกว่า 3 ล้านบาทเลยทีเดียว

ในด้านสาธารณสุขเอง เลเซอร์ AVIX Autonomic Bird Deterrent ก็เคยได้รับการติดตั้งไว้ในฟาร์มสัตว์ปีกซึ่งมีประวัติการติดเชื้อไข้หวัดนกมาก่อน โดยทำการการติดตั้งเลเซอร์ไว้บนเสาสูง 6 เมตร ในส่วนของพื้นที่ปลอดเชื้อซึ่งเชื่อมต่อโดยตรงกับโรงนา พร้อมทั้งติดตั้งกล้องวิดีโอมุมกว้างจำนวน 8 ตัว บนเสาสูง 4 เมตร เพื่อบันทึกการมาเยือนของนกป่าที่อาจเป็นพาหะนำเชื้อโรคเข้ามาสู่ฟาร์มได้
ซึ่งหลังจากการติดตั้งไปเป็นระยะเวลา 1 เดือน เลเซอร์นี้ก็ช่วยทำให้จำนวนนกป่ามีอัตราลดลงถึง 96% เมื่อเทียบกับระยะเวลาเปิดและปิดการใช้งาน ซึ่งนี่ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะช่วยแก้ปัญหาของฟาร์มสัตว์ปีกในเรื่องของความเสี่ยงโรคติดต่อจากสัตว์ป่าสู่สัตว์ภายในฟาร์มได้อย่างเคร่งครัดมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
สรุป
เลเซอร์นี้ดูจะเป็นอุปกรณ์ไล่นกที่ใช้งานได้ผลแถมยังไม่ต้องลงมือลงแรงในการจับหรือการทำให้นกเหล่านั้นเจ็บตัวจากการดักตาข่าย ซึ่งทำให้ปีกของนกได้รับบาดเจ็บอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงการยิงปืนเพื่อไล่ ซึ่งก็เสี่ยงอันตรายต่อทั้งมนุษย์ที่อยู่โดยรอบและนกที่อาจจะถูกยิงได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง เนื่องจากเป็นนวัตกรรมใหม่ ต้องมีค่าอุปกรณ์ต่างๆ และต้องทำการติดตั้งมากกว่า 1 จุดนั่นเอง